ไม้ชนิดนี้ มีด้วยกัน 2 พันธุ์ คือ ชนิดที่มี ก้านเป็นสีเขียวกับชนิดที่ก้านเป็นสีแดง มีถิ่นกำเนิดเดิมจากประเทศอินเดียและประเทศศรีลังกา จากนั้นได้กระจายพันธุ์ปลูกในเขตร้อนไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วยที่นิยมปลูกมาแต่โบราณแล้ว จนทำให้หลายๆคนเข้าใจผิดคิดว่าต้น “พุทธชาด” เป็นไม้ของประเทศไทยไปโดยปริยาย ชาวอินเดียและชาวศรีลังกาถือว่าดอก “พุทธชาด” เป็นไม้มงคลและจะมีปลูกไว้ในบริเวณบ้านกันอย่างกว้างขวางเพื่อเก็บเอาดอกที่มีกลิ่นหอมไปบูชาพระหรือบูชาเทวรูปที่นับถือประจำ

พุทธชาด มีชื่อวิทยาศาสตร์และมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ยาวมากจึงไม่ขอเขียนให้ทราบเนื่องจากเนื้อที่จำกัด เป็นไม้อยู่ในวงศ์เดียวกันกับมะลุลี ที่คนทั่วไปรู้จักเป็นอย่างดี เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูงหรือยาวได้เต็มที่ไม่เกิน 2.5–3 เมตร กิ่งอ่อนมีทั้งเป็นสีเขียวและเป็นสีแดง กิ่งอ่อนจะเปราะและหักได้ง่ายมาก ใบเดี่ยวออกตรงกันข้ามรูปรี สีเขียวเข้ม ดอก ออกเป็นช่อตามง่ามใบและปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมากตามภาพประกอบคอลัมน์ กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวแข็งปลายแยกเป็น 5 แฉก ลักษณะดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว 1.5-2 ซม. ปลายแยกเป็นกลีบดอก 6-7 กลีบ ปลายกลีบดอกแหลม ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 ซม. กลีบดอกเป็นสีขาวบริสุทธิ์ ดอกมีกลิ่นหอมแรง เมื่อยืนห่างประมาณ 1–2 เมตร แล้วให้ลมพัดเอากลิ่นหอมโชยเข้าจมูกจะมีกลิ่นหอมเย็นทำให้รู้สึกสดชื่นใจอย่างบอกไม่ถูก แต่ถ้าหากเอาจมูกเข้าไปดมกลิ่นติดกับดอกจะมีกลิ่นฉุนแรงเป็นเรื่องที่แปลกมาก ที่สำคัญดอกของ “พุทธชาด” จะบานพร้อมๆกันทุกดอกและทั้งต้นทำให้ดูงดงามและส่งกลิ่นหอมเป็นที่ประทับใจยิ่ง ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งและเสียบยอด

...

มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ หลายแผงหลายเจ้า แต่ละแผงจะมีราคาไม่เท่ากัน เหมาะจะปลูกเพื่อเก็บดอกบูชาพระหรือบูชาเทวรูปตามที่กล่าวข้างต้นดีมากครับ.

“นายเกษตร”