“ราชินีแห่งสายน้ำ” ฉายาของ “พลับพลึงธาร” ที่มีชื่อท้องถิ่นว่า “หัวหญ้าช้อง” ภาคกลางเรียกว่า “หอมน้ำ” เป็นพันธุ์ไม้น้ำขนาดใหญ่ ดอกสีขาว 6 กลีบ กลิ่นหอมแรงเหมือนดอกพลับพลึงในช่วง ต.ค.-ธ.ค. ออกดอกชูช่อสวยงามเหนือสายน้ำประดับลำธารใสสะอาด และมีน้ำไหลตลอดปี
เป็นพืชเฉพาะถิ่นบ้านเรา มีเพียงในประเทศไทย...ไม่เคยพบที่ไหนในโลก
ขึ้นอยู่อย่างกระจัดกระจายตามแหล่งน้ำในพื้นที่รอยต่อจังหวัดระนอง-พังงา...ปัจจุบันถูกขึ้นบัญชีเป็นพืชใกล้สูญพันธุ์ของโลก (IUCN Redlist) เมื่อปี 2554
นายวศิน จารุสาธร น.ส.สุธารัตน์ ทองห่อ และ น.ส.อรอุมา มาลา นักศึกษาในโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์พังงา วิทยาลัยเทคนิคพังงา จึงได้ศึกษาปัจจัยทางกายภาพ และปัจจัยทางเคมี บริเวณคลองที่ไหลผ่าน ร.ร.เยาววิทย์ อ.กะปง จ.พังงา เพื่อหาวิธีเพาะขยายพันธุ์
“เลือกสถานที่นี้ เพราะเดิมตอนเราเรียนอยู่ที่นี่ มีต้นหัวหญ้าช้อง อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันหายไปหมด เลยเอามาเป็นโจทย์หาสาเหตุ อะไรถึงทำให้ไม้พันธุ์นี้สูญไป ดิน น้ำ อุณหภูมิ สิ่งแวดล้อม ในแหล่งน้ำเปรียบเทียบกับแหล่งน้ำในคลองตาเลื่อน และคลองวัดส่วนวาง อ.คุระบุรี จ.พังงา ที่ยังมีต้นหัวหญ้าช้องขึ้นอยู่มาก มีความแตกต่างกันอย่างไร”
...
วศิน เผยถึงผลการศึกษา...สาเหตุที่พลับพลึงธารหายไปจากคลองโรงเรียน มาจากการปล่อยทิ้งน้ำเสียจากชุมชนเข้ามาในคลอง ปล่อยไม้ชนิดอื่นขึ้นมามากเกินไปจนทำให้มีแสงไม่เพียงพอ อุณหภูมิในน้ำไม่สม่ำเสมอ ประกอบกับการไหลของน้ำในช่วงฤดูฝน น้ำไหลแรงพัดต้นพันธุ์ไปจากพื้นที่ และมีการลักลอบขุดไปขาย
จะให้ต้นพลับพลึงธารเติบโตได้ดีและขยายพันธุ์ได้ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม น้ำต้องมีค่า pH 5.9-6.2 อุณหภูมิน้ำอยู่ระหว่าง 23-25 ˚C และต้องมีแสงส่องลงไปในน้ำได้ลึก 19-20 ซม. ดินที่เหมาะสมต้องดินร่วนปนดินเหนียว อัตราการไหลของน้ำควรอยู่ที่ 0.80 ม.ต่อวินาที ค่าการละลายของออกซิเจนในน้ำมีค่ามากกว่า 8 ppm
ส่วนวิธีการเพาะขยายพันธุ์ วศิน บอกว่า ทำได้หลายวิธี ทั้งเพาะเมล็ด แยกหน่อ ผ่าแบ่งหัวพันธุ์ คว้านหัว บากหัว ให้เกิดรอยแผลบนฐานหัวให้แตกหน่อออกมาใหม่ รวมทั้งเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
เมื่อได้ต้นพันธุ์มาแล้ว นำไปปลูกในคลองที่มีสภาพเหมาะสม โดยการฝังหัวพันธุ์ลงในดิน และนำตะแกรงพลาสติกคลุมทับหัวพันธุ์ไว้ไม่ให้ถูกน้ำพัดพาไป...ระยะการปลูกควรอยู่ในช่วงเดือนมกราคม เพราะน้ำในคลองมีน้อย เมล็ดหรือต้นพันธุ์จะจมลงหน้าดินใต้ท้องน้ำ เกิดการงอกของเมล็ด การแทงรากหยั่งลงดินจนต้นเติบโตได้ดี และดูแลให้ดีไปจนถึงฤดูฝน
จากนั้นใช้เวลาอีก 3–4 ปี ต้นพลับพลึงจะแตกหน่อ งอกงามเต็มลำธารได้ตลอดไป...ถ้าไม่มีใครมาทำลายสภาพแวดล้อมให้เปลี่ยนไป และไม่มีใครมาขุดขโมยไปขายเสียก่อน.
ไชยรัตน์ ส้มฉุน