ประเทศไทยยุค 4.0 ยังมีคนไม่รู้กฎหมาย...ไม่รู้สิทธิของตัวเองอีกเยอะ...

ปัจจุบันสำนักงานอัยการสูงสุดมีหน่วยงานชื่อว่า “สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนและการบังคับคดีจังหวัด...” ชื่อย่อ “อัยการ สคช.” ประจำทุกจังหวัดทั่วประเทศ 112 แห่ง

สำนักงานนี้มี นางลัดดาวัลย์ สินธุรักษ์ เป็นอธิบดีฯ สำนักงานฯอยู่ถนนแจ้งวัฒนะ ในต่างจังหวัดจะมีอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิ 1 คน เป็นหัวหน้า ขึ้นกับอธิบดีอัยการภาคทั้ง 9 ภาค มีอัยการพิเศษฝ่าย สคช.ภาคเป็นผู้กลั่นกรองงานเสนออธิบดี

เคยสงสัยว่า ตำแหน่งอัยการจังหวัดและตำแหน่งอัยการจังหวัด สคช. ใครอาวุโสหรือใหญ่กว่ากัน คำตอบคือ มีสถานะเท่ากัน แต่อัยการจังหวัดอาวุโสกว่าหน่อย

รู้โครงสร้าง สคช.แล้ว มาดูกันว่า อัยการ สคช.จะรับใช้ชาวบ้าน ตาดำๆอย่างไรบ้าง?

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยว่า “สคช.จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเบื้องต้นแก่ประชาชน ทั้งคดีแพ่งและพาณิชย์ อาญา ครอบครัว แรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา ล้มละลาย ภาษี สิ่งแวดล้อม คดีผู้บริโภค และจราจร ทั้งภาคความรู้และวิธีขึ้นศาล มีทนายอาสาเรียกว่า ทนาย สคช.มารับเรื่อง”

“สรุปคือ คอยให้ความรู้ชาวบ้านจะได้ไม่ถูกหลอก...”

“ฉะนั้น เมื่อชาวบ้านตกเป็นผู้ต้องหา ปรึกษาอัยการคุ้มครองสิทธิได้ว่า ผู้ต้องหามีสิทธิจะให้การไม่ให้การ มีสิทธิพบและปรึกษาทนาย การรักษาพยาบาล การให้ญาติทราบถึงการจับกุม การร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว การร้องขอปล่อยตัวจากการจับไปขังโดยไม่ชอบ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ”

“เพราะอัยการหน่วยนี้ไม่ได้เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือรับแก้ต่างคดีแพ่งให้หน่วยงานรัฐ แต่จะให้ความรู้ชาวบ้านว่า ตนมีสิทธิอย่างไร”

...

“ชัยชนะของอัยการคือ การรักษาความยุติธรรม อัยการมิได้มุ่งหวังแต่จะเอาชนะคดีอย่างเดียว แต่ต้องการให้เกิดความยุติธรรมที่รวดเร็ว เท่าเทียม ประหยัด โปร่งใส เข้าถึงง่ายในสังคมไทย” นายโกศลวัฒน์กล่าว

คราวนี้ชาวบ้านชาวช่องอย่างเราๆท่านๆจะได้รู้ว่า ถึงแม้ว่าอัยการได้ชื่อว่า เป็นทนายของรัฐ...

แต่ยังมีอัยการ สคช.อยู่ตามจังหวัดต่างๆ คอยให้การแนะนำผู้ถูกกล่าวหา เพื่อจะได้รู้สิทธิของตัวเองอย่างถูกต้องอีกหน่วยงานหนึ่ง...

สหบาท