“สมเถา สุจริตกุล”...คนไทยคนแรกและชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลสัมฤทธิภาพด้านวัฒนธรรมยุโรป หรือ “EUROPEAN AWARD FOR CULTURAL ACHIEVEMENT” ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของประเทศไทย

“รางวัลนี้ทำให้ผมตื่นเต้นและรู้สึกเจียมตัวเป็นอย่างมาก” สมเถา ว่า

“คีตกวี” ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ในอดีตมีเพียงคนเดียวคือ ฮันส์ เวอร์เนอร์ เฮนซเซอร์ ผู้เป็นหนึ่งในบรรดานักดนตรีเยอรมันที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20

ส่วนผู้ชนะรางวัลรายอื่นๆ ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลสำคัญ อาทิ จอร์จ ดูเฟรสเน (นักแสดง) ดั๊ก ไรท์ (นักประพันธ์อเมริกัน) ดมิทรีส ทซาตโซส (นายกเทศมนตรีกรุงเอเธนส์ กรีก) เอลิซาบิตตา เพนเดอเรสกา (ผู้รังสรรค์เทศกาล “คราคอฟ เบโธเฟน”) ผู้กำกับการแสดง นักออกแบบท่าระบำ และนักการเมือง ฯลฯ

สำหรับผู้ได้รับรางวัลคนแรกคือ แอนน์มารี เรงเกอร์ สตรีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และสตรีคนแรกที่ได้รับการเสนอนามเป็นประธานาธิบดีโดยพรรคการเมืองใหญ่ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา สภาวัฒนธรรมยุโรปได้มีการมอบรางวัลประเภทอื่นคือรางวัล European Tolerance ผู้รับรางวัลนี้ในปี 2553 ได้แก่ นายแพทย์เยอรมัน เดิร์ค เวเบอร์อารยธรรมโสภณ สำหรับผลงานเกี่ยวกับเด็กพิการและป้องกันโรคเอดส์ในประเทศไทย

แน่นอนว่า...การที่เว็บไซต์ของสภาวัฒนธรรมยุโรปออกประกาศว่า “ประเทศไทยชนะรางวัลประจำปี 2560” มีความหมายสำหรับสมเถามาก

“สิ่งที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมกำลังจะเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา ความเชื่อมั่นว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปสู่ความเป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมแห่งภาคพื้นเอเชีย ทำให้ผมทิ้งงานอาชีพในตะวันตกซึ่งทำมานานถึงครึ่งศตวรรษ เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน แล้วมันก็เกิดขึ้นที่นี่จริงๆ ผมดีใจที่สุดที่ได้เป็นส่วนเล็กๆของการปฏิวัติครั้งนี้ และภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลนี้ในนามศิลปินและประชาชนคนไทย”

...

สมเถา สุจริตกุล... คีตกวี...วาทยกร และ...ประพันธกร ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทูตวัฒนธรรมระหว่างตะวันออกกับตะวันตก ฟันฝ่าอุปสรรคด้านเขตแดนและประวัติศาสตร์ สรรค์สร้างสัมพันธไมตรี...ความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับยุโรป ซึ่งมีความหมายสำคัญยิ่ง

มุมเล็กๆมุมหนึ่งที่สมเถาได้ชื่อว่า “ครู” ผู้คอยกำกับวงดุริยางค์เยาวชน “สยาม ซินโฟนิเอตต้า” ที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก คว้าแชมป์ประเภทออเคสตรา ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในปี 2555

วงสยาม ซินโฟนิเอตต้า เป็นวงเยาวชนที่ใช้วิธีสอนแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลก...เป็นสาเหตุที่คนทั่วโลกรู้จักระบบใหม่ เป็นการปฏิวัติในการศึกษา ซึ่งหมายความว่า แทนที่จะเรียนว่าเล่นดนตรียังไง พวกเขาเรียนว่า เล่นดนตรีทำไม หลายคนที่รู้ก็เรียกกันว่าเป็น ...“Somtow Method”

เล่น...“ยังไง?” กับ เล่น...“ทำไม?” สมเถาอธิบายว่า คำว่า “ทำไม”...เป็นคำถามที่เด็กไทยไม่ได้ถูกสอนให้ถามมาก แต่ว่าวงนี้เป็นคำถามที่สำคัญที่สุดที่เราให้ถาม เพราะฉะนั้น ผมไม่ได้บอกว่าโน้ตนี้คุณต้องเล่นอย่างนี้ๆๆ ทุกคนมีครูอยู่แล้ว จะเล่นยังไงถามครูได้ แต่ว่าจะต้องมาหาผมเพื่อจะรู้ว่าเล่นทำไม

“คำตอบแต่ละคน ผมจะต้องอธิบายว่า ดนตรีชิ้นนี้ประวัติเป็นอย่างไร ความคิดของคนแต่งคืออะไร สังคมเป็นยังไง และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร วัฒนธรรมอื่นที่เกิดขึ้น วรรณคดี ดนตรีอื่น ประวัติศาสตร์ ทุกอย่างรวมอยู่ในดนตรีนั้นหมด”

การเรียนโน้ตแต่ละโน้ต ไม่ช่วยให้เราตีความหมายได้ เหตุที่วงชนะรางวัลที่ 1 ในประเทศออสเตรีย เล่นเพลงออสเตรียแบบสุดๆ กรรมการก็เป็นคนออสเตรียหมด แล้วก็เล่นให้คนออสเตรียฟัง แล้วเราก็สามารถตีความหมายใหม่ที่คนออสเตรียเองไม่ได้ค้นพบในเพลงนั้นได้ เป็นสาเหตุที่ได้รับชัยชนะอย่างเอกฉันท์

“ระบบการเรียนแบบนี้ ใช้ไม่ได้สำหรับนักเรียนกลุ่มใหญ่ หรือสถาบันการศึกษา เพราะเป็นระบบที่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับเด็กแต่ละคน อีกประการหนึ่งก็คือ จะมีผลเฉพาะเด็กที่มีประสาทสัมผัสทางอัจฉริยภาพด้านสร้างสรรค์บ้างไม่มากก็น้อย......ผมไม่สามารถบันดาลให้ใครเป็นอัจฉริยบุคคลได้ เพียงแต่ดึงความสามารถเชิงสร้างสรรค์ที่น้อยคนคิดว่ามีให้ปรากฏออกมา”

สิ่งสำคัญคือ ระบบการสอนของสมเถา ไม่ใช่วิธีการสอนในห้องเรียน เขาไม่ใช่ครู ไม่เคยคิดค่าสอนจากใครแม้แต่สตางค์แดงเดียว วิธีการเริ่มจากความผูกพันส่วนตัวซึ่งมีอิทธิพลลึกซึ้ง...

จิตสำนึกบอกเราว่า “เราได้พบคนที่เดินทางเดียวกับเราแล้ว”

เมื่อไม่มีรูปแบบ แน่นอนว่าก็ไม่มีข้อจำกัดว่าแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์จะต้องเรียนกันกี่ชั่วโมง เป็นการแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต ซึมซับวิชาทีละเล็กละน้อย ไม่ได้บังคับให้เด็กเข้าประตู เพียงแต่เปิดประตูให้ซิน โฟนิเอตต้าเล่นเพลงยิ่งใหญ่ที่ออเคสตรามืออาชีพเท่านั้นกล้าเล่น

ทำไม? เล่นดนตรีฝรั่ง ไม่เล่นดนตรีไทย อีกคำถามที่คนไทยมักจะถามเมื่อได้เจอกัน

สมเถา สุจริตกุล ในฐานะประธานมูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพ ก็ตอบกลับไปว่า ทำไมเรามีภาพยนตร์ ทำไมมีโทรทัศน์ ทำไมมีเพลงป็อป นี่เป็นของฝรั่งทั้งนั้น เราต้องเข้าใจว่าดนตรี ศิลปะเป็นมรดกของเรา แล้วเรามีสิ่งใหม่ที่จะพูดเกี่ยวกับมรดกเหล่านี้...ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นเคยพูดมาก่อน

ความสำเร็จอีกขั้นของครูชื่อ “สมเถา” ในวันนี้...ในวันที่ 18 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวัน International Migrants Day ของสหประชาชาติ ประธานสภาวัฒนธรรมยุโรปจะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อมอบรางวัลสัมฤทธิภาพด้านวัฒนธรรมยุโรปให้สมเถา สุจริตกุล ด้วยตนเอง ในงานแสดงคอนเสิร์ตที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

...

สมเถาจะทำหน้าที่วาทยกร อำนวยซิมโฟนีหมายเลข 9 ของคีตกวีปรมาจารย์เบโธเฟน

ความสำเร็จของการเล่นดนตรีเป็นวง หากจะเทียบกับความสมัครสมานสามัคคีในสังคมไทยเราก็อาจจะมีความเหมือนอยู่เหมือนกัน เยาวชนในวงก็มีเด็กจากทุกส่วนของสังคม ต่างความคิดกัน แยกสีชัดเจน...

“แต่ว่าเวลาเล่นดนตรีแม้ว่าจะต่างกัน แต่ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่ามนุษย์แต่ละคน หมายถึงว่า สิ่งที่เขาสร้างขึ้นมามันไม่ใช่ หนึ่ง...บวก...หนึ่ง...บวกหนึ่ง...บวกหนึ่ง...เป็นสมาชิก 50 คน แต่บวกกันแล้วเป็นล้านฯ”

นั่นเป็นเพราะว่า เวลาเล่นดนตรีเขาฟังซึ่งกันและกัน เป็นเคล็ดลับสำคัญ ไม่ใช่สำคัญในสิ่งที่เราเล่นเอง แต่สำคัญในสิ่งที่เราได้ยินคนอื่นเล่น...90 เปอร์เซ็นต์ของการเล่นดีก็คือการฟัง...เอาใจใส่กันตลอดเวลา

“การฟัง” เป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศชาติของเรา ถ้าเราไม่ฟังคนอื่น เราจะไม่มีวันเป็นวงขึ้นมาได้ เราจะเป็นแค่คนที่ต่างคนต่างเล่น ก็เหมือนเดินอยู่กลางงานวัด

การฟัง...การมีภาพที่ใหญ่กว่าตัวตนของตัวเองร่วมกัน เป็นจุดหมายที่เราสามารถจะมีความคิดอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ดนตรี
ไม่ใช่สิ่งที่บันดาลความสุขอย่างเดียว แต่ทำให้เราคิดด้วย.