เมฆประหลาดหลายลักษณะทั้งเมฆอาร์คัส หรือ เมฆม้วน เมฆสึนามิ เมฆหมวก หรือปรากฏการณ์ท้องฟ้าสองสี แท้จริงแล้วเป็นธรรมชาติหรือลางบอกเหตุ?
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้รวบรวมปรากฏการณ์เมฆลักษณะแปลกๆ ที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้าประเทศไทยหลายครั้ง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ว่าแท้จริงแล้วเมฆประหลาดเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีลางบอกเหตุอะไรหรือไม่?
ชมภาพปรากฏการณ์เมฆประหลาดเกิดขึ้นบนน่านฟ้าเมืองไทย


...
เมื่อเร็วๆ นี้ที่ จ.นครราชสีมา ได้เกิดปรากฏการณ์เมฆประหลาด โดยมีก้อนเมฆม้วนตัวเป็นแนวยาวเหนือท้องฟ้า และเคลื่อนตัวคล้ายกับคลื่นยักษ์ ซึ่งก้อนเมฆประหลาดนี้เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว ครอบคลุมแต่ละอำเภอประมาณ 30 นาที ระหว่างที่ครอบคลุมก็จะมีลมกระโชกแรงและมีฝนตกลงมาเป็นระยะ

ก่อนหน้านั้น ได้เกิดปรากฏการณ์กลุ่มเมฆก่อตัวเหนือพระบรมมหาราชวัง มีลักษณะการก่อตัวรูปวงกลมทรงแบน หรือเรียกว่า “เมฆหมวก” มีรัศมีเปล่งประกายสวยงาม มีประชาชนจำนวนหนึ่งยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปด้วย

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 60 ที่ จ.กาฬสินธุ์ ได้พบก้อนเมฆประหลาดคล้ายจานยูเอฟโอข้างบนออกแสงสวยงาม ผู้คนต่างออกมาถ่ายรูป โดยส่วนใหญ่ต่างเชื่อว่า ถือเป็นความโชคดี ที่ได้พบปรากฏการณ์แบบนี้ และคิดว่าต่อไปจะมีแต่เรื่องดีๆ เข้ามาหลังจากที่ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมมานานหลายเดือน จึงเชื่อว่าคงเป็นสัญญาณบอกว่าปัญหาต่างๆ จะหายไป หรือบางคนอาจเชื่อว่า อาจจะมีโชคลาภหลังจากพบก้อนเมฆประหลาด

และที่ จ.สุโขทัย เกิดปรากฏการณ์ท้องฟ้าสองสี มีมวลเมฆสีขาวรวมกันเป็นก้อนเคลื่อนปกคลุมเหนือพื้นที่ จ.สุโขทัย จนเห็นท้องฟ้าแบ่งเป็น 2 สี คือ สีขาว กับ สีฟ้า อย่างชัดเจน และปรากฏขึ้นหลายพื้นที่ในภาคเหนือ โดยเจ้าหน้าที่อุตุนิยมวิทยา ระบุสาเหตุมาจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น

...
ส่วนที่ จ.หนองคาย เกิดปรากฏการณ์ท้องฟ้าแบ่งสี มีมวลเมฆจับกลุ่มหนาแน่นเป็นสีเทา ตัดกับท้องฟ้าสีฟ้า พาดผ่านโค้งแม่น้ำโขงนานราว 3 ชั่วโมง

ขณะที่ มีรายงานว่าเกิดปรากฏการณ์เมฆลอยต่ำแผ่ปกคลุมเขาภูพาน จ.หนองบัวลำภู ด้านทิศตะวันออกของตัวเมืองหนองบัวลำภู เกิดจากสองฟากเขามีสภาพอากาศที่แตกต่าง โดยมีฟากหนึ่งเย็นชื้นจากพายุฝน ขณะที่อีกฟากหนึ่งร้อนจัด จึงเกิดการเคลื่อนตัวเข้าหากัน และเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกกว่า “เมฆสึนามิ” ขึ้น
เมฆประหลาดนี้ มีที่มา...?
นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องมวลเมฆลักษณะต่างๆ ว่า การเปลี่ยนแปลงของลักษณะมวลเมฆสามารถบ่งบอกสภาพอากาศบริเวณนั้นได้ว่าจะเป็นอย่างไร
“เมฆอาร์คัส” เมฆรูปทรงนี้เป็นเมฆประเภทก่อตัวต่ำ เกิดขึ้นเมื่อมวลอากาศเย็นปะทะมวลอากาศอุ่นชื้น จึงผลักมวลอากาศอุ่นชื้นขึ้นไปด้านบน จากนั้นกระแสลมแรงได้ทำให้เมฆม้วนตัวเป็นทางยาวขนานไปกับพื้นผิวโลก โดยหลังจากเกิดเมฆอาร์คัส จะทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองมีลมกระโชกแรง มีฝนตกหนัก มีฟ้าผ่าบริเวณนั้น
...
“เมฆคิวมูโลนิมบัส” ลักษณะคล้ายกับกะหล่ำปลี เป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง โดยก่อนฝนตกจะมีลมกระโชกและมีฟ้าผ่า จากนั้น จึงมีฝนตกลงมาหนัก แต่บางครั้งอาจจะเป็นลูกเห็บหล่นลงมาก็ได้
“หมวกเมฆสีรุ้ง” มีลักษณะเป็นเมฆบางๆ ที่ลอยอยู่เหนือเมฆก้อนขนาดใหญ่ เช่น เมฆคิวมูโลนิมบัส หรือเมฆฝนฟ้าคะนองที่เริ่มก่อตัวใหม่ๆ ในขณะที่ก้อนเมฆขนาดใหญ่ดังกล่าวนี้กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แสงจะตกกระทบกับผลึกน้ำแข็งที่อยู่ในก้อนเมฆแต่ละก้อน และจะหายไปเมื่อก้อนเมฆโตขึ้นแล้วกลืนหมวกเมฆไป

“ปรากฏการณ์ท้องฟ้าสองสี” หรือ ท้องฟ้าแบ่งสี เป็นสีฟ้าและสีขาวนั้น เป็นกลุ่มเมฆที่หนาทึบมารวมตัวกันและเกาะเป็นก้อน เนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นลง ไม่มีกระแสลมแรง ทำให้เมฆเกาะตัว จะเห็นได้ว่า ก้อนเมฆเหล่านี้เริ่มมาจากทางด้านทิศตะวันออก และค่อยๆ กระจายขึ้นท้องฟ้า ไหลลงไปทางทิศตะวันตก จะเห็นได้ชัดเจนในพื้นที่ที่อากาศหนาวเย็น โดยเกิดจากอากาศเย็นปะทะกับอากาศอุ่น ทำให้เกิดรอยต่อของขอบเมฆ
...
“ถ้าเป็นเมฆประเภทฝนฟ้าคะนอง มักจะเกิดในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงจากเดิมร้อนอยู่ และมีอากาศเย็นมาถึงและปะทะกัน หรือกรณีที่อากาศร้อนจัดหรือมีการยกตัวขึ้นของมวลอากาศก็จะเกิดเป็นฝนฟ้าคะนอง แต่ถ้าอากาศเย็นลงมา ช่วงฤดูหนาวก็จะเป็นเมฆประเภทเซอร์รัส อากาศปลอดโปร่ง” อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าว