สมาคมข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย) เชิญ ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย พูด “ท้องถิ่นต้องแบบไหนกับไทย 4.0” รับใช้ข้าราชการส่วนท้องถิ่น 300 คน อังคารวันนี้ เวลา 09.00-16.00 น. ที่โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จ.เชียงใหม่
ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณเป็นต้นมา ทุกชาติรัฐล้วนใช้แนวคิดแบบสัจนิยม หลักการสำคัญที่สุดของแนวคิดนี้คือ ความอยู่รอดของชาติในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ความเป็นศัตรู รัฐไม่จำเป็นต้องยึดศีลธรรมจรรยาบรรณ วิธีการใดก็ตามที่รักษาหรือนำไปสู่ผลประโยชน์แห่งชาติ ถือว่าถูกต้องและชอบธรรมทั้งสิ้น
แนวคิดแบบสัจนิยมถือว่า รัฐเป็นตัวแสดงที่สำคัญที่สุดและมีอำนาจอย่างเต็มที่โดยที่ไม่ต้องแบ่งให้ตัวแสดงอื่น ไม่ว่าจะเป็นตัวแสดงระดับ ‘ใต้รัฐ’ หรือ ‘เหนือรัฐ’ ทุกรัฐต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเองเป็นใหญ่ ต้องรักษาผลประโยชน์ของตนเองอย่างถึงที่สุดโดยไม่มีการต่อรอง หากข้อต่อรองนั้นหมายถึงการเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐตน
ระดับใต้รัฐก็เช่น กลุ่มองค์กรเอกชนหรือเอ็นจีโอ ถ้ายอมพวกนี้ ในแนวคิดแบบสัจนิยมจะถือว่ารัฐจะเสียประโยชน์ ระดับเหนือรัฐก็เช่น สหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์การระดับโลก
ตัวอย่างของการไม่ยอมอ่อนให้องค์กรเหนือรัฐก็เมื่อ 25 ธันวาคม 2559 นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ประณามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ที่ผ่านร่างมติของอียิปต์ด้วยคะแนนเสียง 14 เสียง ที่เรียกร้องให้ ‘อิสราเอลหยุดนโยบายขยายอาณาเขตการตั้งถิ่นฐานในเขตเวสต์แบงก์และฝั่งตะวันออกของนครเยรูซาเล็ม’ ซึ่งการโหวตครั้งนี้ สหรัฐฯ ที่เป็น 1 ในสมาชิกถาวรของยูเอ็นเอสซีงดออกเสียง
นายเนทันยาฮูต้องขยายอาณาเขตไปตั้งถิ่นฐานในเขตเวสต์-แบงก์และฝั่งตะวันออกของนครเยรูซาเล็ม แกทำอย่างนี้เพื่อให้รัฐยิวเข้มแข็ง ทั้งที่ต้องไปแย่งแผ่นดินของพวกปาเลสไตน์มา ผู้นำ รัฐยิวก็ไม่เคยแคร์ว่าการแย่งแผ่นดินจากคนอื่นๆจะผิดศีลธรรม
...
ตั้งแต่ พ.ศ.2522 เป็นต้นมา อะไรที่รัฐยิวทำ สหรัฐฯ ก็หนุนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู เพราะสหรัฐฯ ต้องการให้มีรัฐของชนชาติยิวไปตั้งอยู่ท่ามกลางรัฐอาหรับเพราะไม่ต้องการให้พวกอาหรับซึ่งนับถือศาสนาอิสลามรวมตัวกันได้ เพราะหากรวมตัวกันได้เมื่อใดก็จะเป็นอันตรายต่อสหรัฐฯ และตะวันตก
แต่ก่อนง่อนชะไร พวกชาติอาหรับพยายามเสนอร่างมติให้อิสราเอลยุตินโยบายขยายอาณาเขตการตั้งถิ่นฐานในเขตเวสต์แบงก์และฝั่งตะวันออกของกรุงเยรูซาเล็ม ประเทศสมาชิกยูเอ็นเอสซีส่วนใหญ่ก็เอาด้วย แต่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นสมาชิกถาวร ‘วีโต้’ ช่วยอิสราเอลทุกครั้ง อิสราเอลก็คิดว่าตัวเองมีความมั่นคงท่ามกลางชาติอาหรับในตะวันออกกลางเพราะมีสหรัฐฯ ขาใหญ่ขององค์กรเหนือรัฐอย่างสหประชาชาติช่วยเหลืออยู่
แต่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ ไม่วีโต้ แถมยังงดออกเสียง ทำให้ 14 ชาติที่ยกมือตามข้อเสนอของอียิปต์ที่ให้อิสราเอลยุตินโยบายขยายอาณาเขตฯ ‘ผ่าน’ นำความตระหนกตกใจมาให้อิสราเอลอย่างมาก
หลายคนคิดว่า ก็เมื่อมติของยูเอ็นเอสซีองค์กรโลกให้อิสราเอลหยุด อิสราเอลก็ต้องหยุด แต่ผู้อ่านท่านที่เคารพครับ ตามแนวความคิดแบบสัจนิยมที่ว่ารัฐแต่ละรัฐมีอำนาจอธิปไตยอย่างเต็มที่ ไม่ต้องแบ่งให้ตัวแสดงอื่น ไม่ว่าระดับใต้รัฐหรือเหนือรัฐ ทำให้นายเนทันยาฮูไม่ยอม และออกมาให้สัมภาษณ์ทันทีว่า ยูเอ็นเอสซี ลำเอียงและน่าละอาย
แกยังบอกอีกว่า ‘อิสราเอลจะล้างมติอันไร้สาระนี้ให้ได้’ จากนั้น นายเนทันยาฮูก็ด่าประธานาธิบดีโอบามาว่าละเมิดพันธสัญญาที่ให้ไว้ต่ออิสราเอล ตอนนี้นายเนทันยาฮูขู่ว่า ได้ให้กระทรวงต่างประเทศทบทวนความร่วมมือทุกด้านกับยูเอ็น ว่าอิสราเอลจะยังให้ความร่วมมืออีกหรือเปล่า เงินบริจาคที่อิสราเอลเคยให้ยูเอ็นก็ต้องมาดูว่าจะให้ต่อหรือไม่ อิสราเอลได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิกสหประชาชาติเมื่อ พ.ศ.2492 ตั้งแต่นั้นมา ก็ให้ความร่วมมือด้วยการส่งทหารเข้าร่วมในกองกำลังสันติภาพของยูเอ็น แต่ต่อไปนี้อาจจะไม่ส่ง
พฤติกรรมของนายเนทันยาฮูนี่ล่ะครับคือ แนวความคิดแบบสัจนิยม และทุกรัฐก็ใช้แนวความคิดนี้ทั้งนั้น พรุ่งนี้ขออนุญาตมารับใช้เรื่องแนวความคิดแบบสัจนิยมกันต่อครับ ซึ่งใช้อธิบายพฤติกรรมของรัสเซีย ตุรกี สหรัฐฯ และรัฐอื่นๆ ได้ทั้งหมด.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com