อียูเตือนไทยควรเร่งจัดการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนและแรงงานทาสอย่างจริงจังในอุตสาหกรรมอาหารทะเล หลังเอพีเกาะติด รายงานปัญหาการใช้แรงงานทาสข้ามชาติ แกะเปลือกกุ้งนานถึงวันละ 16 ชม.
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.58 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานครึกโครมอ้างข่าวจากเอพีว่า สหภาพยุโรป (อียู) กล่าวเตือนทางการไทย ว่า ควรจัดการปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและปัญหาแรงงานทาสในอุตสาหกรรมอาหารทะเลอย่างพากเพียรแน่วแน่ ถ้าหากไม่ต้องการถูกคว่ำบาตรจากอียู โดยคำเตือนดังกล่าวของอียู หลังจากสำนักข่าวเอพีได้รายงานเกาะติด เปิดโปงอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยใช้แรงงานทาสจากต่างด้าวในการแกะเปลือกกุ้ง โดยบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส ทำงานนานกว่า 16 ชั่วโมงต่อวัน จนทำให้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯและกลุ่มสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ชาวอเมริกันหยุดซื้ออาหารทะเลและกุ้งจากไทย
นายคาร์มีนู เวลลา หนึ่งในคณะกรรมการด้านการประมงของสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวกับนักข่าวเอพี ว่า กลุ่มประเทศอียู กำลังประเมินเบื้องต้นเกี่ยวกับการปรับปรุงของทางการไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย โดยไม่ได้ประเมินในประเด็นการใช้แรงงานทาสในกระบวนการผลิตอาหารทะเลอื่นๆ ข้างเคียง อย่างแกะเปลือกกุ้ง ซึ่งเป็นประเด็นที่แยกจากการทำประมงผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา อียูได้ประกาศผลการพิจารณาเกี่ยวกับการป้องกันและการขจัดปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (ไอโอยู) ของไทย ด้วยการให้ ‘ใบเหลือง’ ซึ่งหมายถึงอียู มีมาตรการมุ่งให้ไทยเปลี่ยนนโยบายในการจัดการปัญหาการทำประมงโดยผิดกฏหมาย และปัญหาขาดการควบคุมการประมง มิฉะนั้น อาจเจอคำสั่งห้ามนำเข้าสินค้าประมงจากไทยในกลุ่มอียูภายในสิ้นปีนี้ โดยไทยจะต้องเร่งแก้ปัญหาภายใน 180 วัน หรือ 6 เดือน และหากไม่สามารถแก้ปัญหาได้จะถูกให้ใบแดง ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกสินค้าทางทะเลไปยังยุโรป ในขณะที่ไทยถือเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าประมงรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และสินค้าประมงจากไทยส่งไปยังอียูคิดเป็นมูลค่าถึงปีละ 575-730 ล้านยูโรเลยทีเดียว
...