แผนพัฒนา – แบบจำลองการพัฒนาชุมชนเมืองของสิงคโปร์ ที่หน่วยงาน “การพัฒนาชุมชนเมืองใหม่” (ยูอาร์เอ) ซึ่งมีภารกิจสำคัญ ทำให้สิงคโปร์น่าอยู่ น่าทำงาน และน่าทำกิจกรรมสันทนาการ.
“7 วันรอบโลก” สัปดาห์ที่แล้ว พูดถึงการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐสิงคโปร์ (เอสจี 50) และบทสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง ขณะไปเยือนแดนลอดช่อง ตาม “โครงการนักข่าวอาเซียนเยือนสิงคโปร์” (เอเจวีพี) ครั้งที่ 7 วันนี้ยังมีสิ่งละอันพันละน้อย มารับใช้ท่านผู้อ่านต่อครับ
นอกจากนายกฯ คณะของเรายังมีโอกาสสัมภาษณ์ นายเฮง สวี คีท รมว.ศึกษาธิการสิงคโปร์ถึง 2 ชม.เต็ม ได้รับรู้เรื่องระบบการศึกษาของสิงคโปร์ ซึ่งได้ชื่อว่ามีคุณภาพดีที่สุดชาติหนึ่งในโลก อันเป็นรากฐานสำคัญทำให้คนมีคุณภาพสูง สามารถพัฒนาประเทศจนเจริญรุ่งโรจน์ได้อย่างไม่หยุดยั้ง
สิงคโปร์ทุ่มเงินอย่างน้อย 20% ของงบประมาณทั้งหมดเพื่อการศึกษา เพราะถือว่าประชาชนเป็นทรัพยากรที่สำคัญและมีค่าที่สุดของชาติ รัฐบาลจึงอุดหนุนการศึกษาเกือบทั้งหมดเสมือนให้เปล่า ไม่ว่ายากจนแค่ไหน ใครอยากเรียนต้องได้เรียน
ระบบการศึกษาสิงคโปร์แบ่งเป็นระดับประถม 6 ปี มัธยม 4 ปี รวมเป็นการศึกษาภาคบังคับขั้นพื้นฐาน 10 ปี และผู้ที่จะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยต้องศึกษาขั้น “เตรียมมหาวิทยาลัย” (จูเนียร์ คอลเลจ) ก่อนอีก 2 ปี
การศึกษาภาคบังคับของสิงคโปร์ต้องเรียนรู้ 2 ภาษาควบคู่กันไป คือ “ภาษาอังกฤษ” เป็นภาษาหลัก และเลือกเรียน “ภาษาแม่” (Mother Tongue) อีก 1 ภาษา คือจีนกลาง (แมนดาริน) มาเลย์ หรือทมิฬ (อินเดีย) ดังนั้น แทบทุกคนจึงใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องปรื๋อตั้งแต่เด็ก
...
โรงเรียนประถมหรือมัธยมล้วนเป็นของรัฐบาลหรือกึ่งรัฐบาล ส่วนสถานศึกษาเอกชน มีเฉพาะระดับอนุบาลและโรงเรียนนานาชาติซึ่งมีไม่มาก ขณะที่มหาวิทยาลัยมี 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (เอ็นยูเอส) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (เอ็นทียู) และมหาวิทยาลัยการบริหารจัดการสิงคโปร์ (เอสเอ็มยู)
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีวิทยาลัยโพลีเทคนิค 4 แห่ง และมี “สถาบันการศึกษาทางเทคนิค” (ไอทีอี) เน้นสอนทักษะทางช่างและช่างฝีมือเป็นหลัก เพื่อป้อนตลาดแรงงานโดยตรง และเปิดทางสู่การเรียนรู้ในขั้นสูงต่อไป โดยไอทีอีที่เราไปเยี่ยมชม เปิดสอนกว่า 100 หลักสูตร ไล่ตั้งแต่อาหารและเครื่องดื่ม พยาบาล ความงาม ครูสอนฟิตเนส ออกแบบ มัลติมีเดีย อิเล็กทรอนิกส์
ธุรกิจและการบริการ การโรงแรมและการต้อนรับแขก ไปจนถึงวิศวกรรมสาขาต่างๆ โดยเน้นการเรียนภาคปฏิบัติจริงถึง 70%
อุปกรณ์การเรียนการสอนของไอทีอีเพียบพร้อมมากจนน่าทึ่ง รวมทั้งเครื่องยนต์กลไกล้ำสมัยและเครื่องบินรุ่นต่างๆ ผู้จบการศึกษาขั้นต้นจากไอทีอี (ไนเทค) จะได้รับใบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และสามารถเรียนต่อในระดับสูงขึ้นคือวิทยาลัยโพลีเทคนิคและมหาวิทยาลัยได้
ส่วน “วิทยาลัยผลิตครู” ของสิงคโปร์มีเพียงแห่งเดียว คือ “สถาบันการศึกษาแห่งชาติ” (เอ็นไออี) โดยรัฐบาลสิงคโปร์ถือว่าครูคือ “หัวใจ” ของการศึกษา จึงส่งเสริมอาชีพครูให้มีเกียรติ ก้าวหน้าในวิชาชีพ มีเงินเดือนสูงเท่าๆกับวิศวกร อย่างน้อย 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 75,000 บาท) ทำให้สามารถดึงคนชั้นสุดยอดราว 30% ของประเทศมาเป็นครูได้
ฯพณฯ เฮง สวี คีท เผยว่า การที่ครูจะทำหน้าที่ได้ดีเต็มศักยภาพ ต้องดูแลครอบครัวได้ดีไม่มีห่วงพะวง รัฐจึงต้องดูแลให้มีรายได้สูง เพราะครูคือผู้วางรากฐานให้เด็กมีทักษะความรู้ตั้งแต่ขั้นแรกๆ เมื่อโตขึ้นสามารถคิดต่อยอดทำอะไรได้มากมายและมีประสิทธิภาพ และด้วยเหตุที่สิงคโปร์เป็นสังคมพหุเชื้อชาติวัฒนธรรม ระบบการศึกษาจึงเชื่อมโยงกับสังคมโดยรวม ขณะที่ต้องตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย และต้องตามเทคโนโลยีต่างๆให้ทัน เพราะโลกเปลี่ยนไปตลอดเวลา ทักษะความรู้ในปัจจุบันอาจไม่พอ ต้องมองข้ามช็อตไปที่อนาคตด้วย เช่น เมื่อเล็งเห็นว่าเครื่องยนต์จะทำงานแทนคนได้ในอนาคต ถ้ามัวฝึกคนให้ทำเรื่องนั้นๆ อยู่ก็จะเสียเวลาเปล่า
คณะของเรายังได้ไปเยี่ยมชม “มีเดียคอร์ป” บริษัทสื่อฯ ชั้นนำของสิงคโปร์ที่มีธุรกิจมากมาย ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ สื่อดิจิตัล ซึ่งเวลานายกฯ แถลงข่าวสำคัญๆ จะไปที่ห้องส่งของมีเดียคอร์ป การรักษาความปลอดภัยที่นั่นจึงเข้มงวดมาก
นักข่าวของมีเดียคอร์ปยืนยันว่า รัฐบาลพรรคกิจประชาชน (พีเอพี) ที่กุมอำนาจตั้งแต่ปี 2502 ไม่ได้เป็นเผด็จการคุมเข้มสื่ออย่างที่เข้าใจ สื่อวิพากษ์วิจารณ์การเมือง แฉเรื่องไม่ดีของรัฐบาลได้ เพียงแต่ห้ามแตะเรื่องละเอียดอ่อนคือเชื้อชาติศาสนาเด็ดขาด เพราะมีกฎหมายกำกับอยู่ ส่วนนักข่าวสังกัดบริษัท “สิงคโปร์เพรส โฮลดิ้ง” เจ้าของสื่อหลากหลายอีกเจ้า รวมทั้งหนังสือพิมพ์ “สเตรทส์ ไทม์ส” อันเก่าแก่ถึง 170 ปี ก็ยืนยันเช่นกัน
...
อีกหน่วยงานที่เราไปเยี่ยมชม คือหน่วยงาน “การพัฒนาชุมชนเมืองใหม่” (Urban Redevelopment Authority) หรือ “ยูอาร์เอ” ซึ่งมีภารกิจสำคัญ คือวางแผนการใช้ที่ดินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อนุรักษ์ป่าและธรรมชาติ ทำให้สิงคโปร์น่าอยู่ น่าทำงาน และน่าทำกิจกรรมสันทนาการต่างๆ (Live, work and play)
ที่สิงคโปร์เต็มไปด้วยต้นไม้เขียวชอุ่มร่มรื่นทั่วประเทศ ก็เป็นฝีมือของยูอาร์เอ ตามนโยบายเปลี่ยนประเทศจาก “สวนในเมือง” เป็น “เมืองในสวน” ยูอาร์เอยังมีโครงการอื่นๆ อีกเยอะ รวมทั้งเชื่อมสวนสาธารณะต่างๆเข้าด้วยกัน เพิ่มสระหรือทะเลสาบให้มากขึ้น
ปลูกต้นไม้บนตึกระฟ้าให้เป็นสีเขียว เพิ่มเลนส์ปั่นจักรยาน ทำให้บ้านกับที่ทำงานอยู่ใกล้กัน ฯลฯ โดยใช้นโยบายสร้างหุ้นส่วนการพัฒนาระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน
ระบบการศึกษาและหน่วยงานเจ๋งๆ ของสิงคโปร์ที่ว่ามานี้ มีคณะต่างชาติรวมทั้งไทยแลนด์ของเราไปศึกษาดูงานกันบ่อยๆ แต่ไหงพอกลับมา ทำอย่างเขาไม่ได้ก็ไม่รู้ครับ!
บวร โทศรีแก้ว