ในปี 2567 นี้ เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงในหลายพื้นที่ทั่วโลก และมาในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่แผ่นดินไหว ไปจนถึงพายุเฮอริเคน และดินถล่ม ซึ่งมักจะส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตอย่างน่าเศร้า และการทำลายล้างอันน่าสะพรึงกลัว
แน่นอนว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่เล่นงานมนุษย์มาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล แต่ในปัจจุบันมีปัจจัยเสริม ที่ทำให้ภัยพิบัติเหล่านั้นรุนแรงขึ้น นั่นคือความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ไปย้อนดูกันว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีมนุษย์มากมายแค่ไหนที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ธรรมชาติอันไร้ปรานีเหล่านี้
แผ่นดินไหวคาบสมุทรโนโตะ
ญี่ปุ่นฟาดเคราะห์ตั้งแต่เข้าสู่ปี 2567 เมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 7.5 แมกนิจูด เขย่าคาบสมุทรโนโตะ ทางตะวันตกของญี่ปุ่นในเวลา 16.10 น.ของวันขึ้นปีใหม่ ตามด้วยอาฟเตอร์ช็อกจำนวนนับไม่ถ้วนต่อเนื่องหลายวัน
แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้พื้นที่บางจุดในแถบโนโตะยกสูงขึ้นถึง 4 ม. มีบ้านเรือนได้รับความเสียหายถึง 84,000 หลัง ต้องใช้งบประมาณในการซ่อมแซมกว่า 1.76 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มีประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรง 14,000 คน 281 คนต้องสูญเสียชีวิต และอีกจำนวนมากที่ได้รับบาดเจ็บ
...
น้ำท่วมใหญ่สเปน
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. เกิดฝนตกหนักในจังหวัดบาเลนเซีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสเปน วัดน้ำฝนได้ถึง 51 ซม.ภายในเวลาเพียง 8 ชม.เท่านั้น ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันครั้งใหญ่ เมืองบาเลนเซีย รวมถึงเมืองอื่นๆ โดยรอบและพื้นที่เพาะปลูก ถูกน้ำท่วมเสียหายยับเยิน มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 216 ศพ ส่วนใหญ่เป็นคนชราอายุเกิน 70 ปี
สาเหตุที่เกิดฝนตกหนักผิดปกติในสเปนครั้งนี้ คาดกันว่าเป็นผลจากปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาที่เรียกว่า “cold drop” เกิดจากการที่ กลุ่มอากาศที่มีความเย็นมากกว่าบนชั้นบรรยากาศ แยกตัวออกจากกระแสลมกรด (jet stream) ไปปะทะกับกระแสลมอุ่น ทำให้มันเคลื่อนที่ช้าลง และมักนำไปสู่เหตุฝนตกหนัก ซึ่งมักเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงของยุโรป
หลังมหันตภัยผ่านพ้นไป รัฐบาลสเปนต้องเผชิญกับกระแสโจมตีอย่างหนัก เนื่องจากการเตือนภัยที่ล่าช้า กับการตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างย่ำแย่ของหน่วยกู้ภัย จนกลายเป็นการประท้วงใหญ่ ผู้ประท้วงถึงขั้นปาโคลนใส่สมเด็จพระราชาธิบดี เฟลิเป ที่ 6 กับพระราชินี เลทิเซีย ที่ลงมาเยี่ยมพื้นที่น้ำท่วมด้วย
ภูเขาขยะถล่มยูกันดา
บ่อขยะ กีตีซี (Kiteezi) ในยูกันดา มีขนาดมหึมาถึงขั้นมองเห็นได้จากภาพถ่ายดาวเทียมของกูเกิลแมป และเป็นบ่อขยะแห่งเดียวในกรุง กัมปาลา เมืองหลวงของยูกันดา และรอบภูเขาขยะแห่งนี้ คือชุมชนที่อาศัยกันอยู่อย่างแออัดมานานหลายปี
แต่ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม เกิดฝนตกหนักในพื้นที่แถบนี้ และในคืนวันที่ 9 ส.ค. ภูเขากองขยะก็พังถล่มลงมา ทับบ้านเรือนที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้ชาวบ้านกว่า 1,000 คนต้องอพยพ ขณะที่ทีมกู้ภัยต้องใช้เวลาขุดกองขยะน้ำหนักหลายตัน เพื่อหาผู้รอดชีวิต จนกระทั้งไม่กี่วันหลังจากนั้น ทางการก็ยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิตไว้ที่ 35 ศพ และอีก 28 คนยังคงสูญหายจนถึงตอนนี้
...
เฮอริเคนเฮเลน
เฮเลน เป็นเฮอริเคนที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่พายุแคทรินา เมื่อ 20 ปีก่อน ที่พัดถล่มสหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือนกันยายน โดยมันขึ้นฝั่งที่รัฐฟลอริดา จากนั้นจึงเคลื่อนตัวผ่านรัฐจอร์เจีย ต่อด้วย เซาท์ กับ นอร์ท แคโรไลนา, เวอร์จิเนีย, เทนเนสซี และแอละแบมา สร้างความเสียหายอย่างหนักตลอดเส้นทางที่มันเคลื่อนผ่าน
พายุอันน่ากลัวลูกนี้คร่าชีวิตผู้คนไป 228 ศพ สูญหายอีก 28 ราย ส่วนผู้ที่รอดชีวิตก็ต้องรับมือกับปัญหาไฟดับเป็นวงกว้าง, น้ำท่วมรุนแรง และโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายหนัก คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.24 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.2 ล้านล้านบาท)
ดินถล่มรัฐเกรละ อินเดีย
ในเดือนกรกฎาคม เขตเวยานาท ในรัฐเกรละ บริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ต้องเผชิญกับฝนตกหนัก วัดปริมาณน้ำได้ 56 ซม.ภายใน 2 วัน ทำให้เกิดดินถล่มหลายจุด ตามหมู่บ้านเล็กๆ ติดเชิงเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่อยู่ของคนงานไร่ชา และหลายหมู่บ้านถูกทำลายจนย่อยยับ
หลายสัปดาห์หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่พบผู้เสียชีวิตรวมกันมากถึง 392 ศพ แต่ยังมีผู้สูญหายอีกไม่น้อยกว่า 150 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อระบุตัวตนของผู้เสียชีวิต โดยบางรายอยู่ในสภาพที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยดีเอ็นเอเท่านั้น
...
ภูเขาไฟเลโวโทบี ลากี-ลากี ปะทุ
ภูเขาไฟเลโวโทบี ลากี-ลากี บนเกาะฟลอเรส ของอินโดนีเซีย เกิดปะทุในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ส่งขี้เถ้าร้อนขึ้นฟ้าสูงกว่า 6,500 ฟุต แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือ ลาวากับหินจำนวนมากที่มันพ่นออกมาด้วย ตกใส่หลายหมู่บ้านภายในรัศมี 3.2 กม.จากภูเขาไฟ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 ศพ ก่อนที่ทางการจะทันสั่งอพยพพื้นที่
ในความเป็นจริงแล้ว ภูเขาไฟเลโวโทบี ลากี-ลากี ส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้ามาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 แล้วว่าจะเกิดการปะทุ โดยมันพ้นควันและเถ้าถ่านออกจากปากปล่องหลายครั้ง ทำให้ชาวบ้านใกล้ภูเขาไฟอพยพไปก่อนแล้วเป็นจำนวนมาก มิเช่นนั้นก็อาจมีผู้เสียชีวิตมากกว่านี้
...
ไต้ฝุ่นยางิ
ไต้ฝุ่นยางิเล่นงาน 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน แต่ที่โดนหนักที่สุดคือเมียนมากับเวียดนาม จำนวนผู้เสียชีวิตโดยรวมจากพายุลูกนี้อยู่ที่ 844 ศพ อยู่ในเมียนมากับเวียดนามไปแล้ว 433 ศพและ 325 ศพตามลำดับ แต่เวียดนามมีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง 1,987 ราย มากกว่าทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบรวมกัน
การเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผลจากน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม เนื่องจากฝนตกหนัก โดยเหตุการณ์ที่เป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมที่สุดจากพายุลูกนี้ เกิดขึ้นที่หมู่บ้าน ลางนู ในจังหวัดหล่าวกาย ของเวียดนาม ซึ่งมีประชากร 158 คน แต่ 48 คนในจำนวนนี้เสียชีวิต อีก 39 คนสูญหาย ทำให้มีชาวบ้านเหลือไม่ถึงครึ่ง
ภัยแล้งยาวที่แซมเบีย
ประเทศแซมเบียในแอฟริกา เผชิญภัยแล้งอย่างหนักในช่วงเดือนมกราคม 2567 และในเดือนต่อมา ผู้นำประเทศก็ตัดสินใจประกาศภาวะภัยพิบัติ ท่ามกลางปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูเพาะปลูกอย่างหนักที่สุดในรอบ 30 ปี ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารในแซมเบีย แต่ผลกระทบไม่ได้จบแค่นั้น
ภัยแล้งทำให้น้ำในเขื่อนคาริบา ซึ่งผลิตไฟฟ้าให้แซมเบียถึง 80% ของการผลิตทั้งหมด ลดต่ำจนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มที่ กระทบต่อการจ่ายไฟฟ้าอย่างหนัก ภัยแล้งยังยืดยาวมาจนถึงเดือนพฤศจิกายน โดยไม่มีฝนเลย ทำให้การผลิตไฟฟ้าที่เขื่อนคาริบา อาจต้องหยุดลง ทั้งที่ในตอนนี้ ชาวแซมเบียมีไฟฟ้าให้ใช้แค่วันละ 3 ชั่วโมงเท่านั้น
ดินถล่มที่เอธิโอเปีย
ฝนที่ตกหนักในเอธิโอเปีย ทำให้เกิดดินถล่มครั้งใหญ่ซ้ำซ้อน 2 ครั้ง ในวันที่ 21 กับ 22 ก.ค. กลืนหมู่บ้านหลายแห่งในเขตโกฟา โซน ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นไปถึง 257 ศพภายในเวลาแค่ 2 วัน กลายเป็นเหตุดินถล่มที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเอธิโอเปีย
ทางการเอธิโอเปียสั่งอพยพประชาชนกว่า 15,000 คน ในขณะที่หน่วยกู้ภัยต้องพยายามขุดฝ่าดินโคลนด้วยมือเปล่า เนื่องจากขาดเครื่องมือ เพื่อคนหาผู้รอดชีวิต โดยสามารถช่วยเอาไว้ได้หลายราย แต่ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ที่พวกเขาพบ เป็นเพียงร่างไร้วิญญาณเท่านั้น
คลื่นความร้อนที่ลาสเวกัส
ลาสเวกัสขึ้นชื่ออยู่แล้วเรื่องอากาศร้อนเกินจะทานทนในช่วงฤดูร้อน แต่ในปี 2567 คลื่นความร้อนเร่งอุณหภูมิขึ้นไปจนผิดปกติ โดยตลอด 3 เดือนของฤดูร้อน มิถุนายน, กรกฎาคม และสิงหาคม เวกัสมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 35.7 องศาเซลเซียส สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2480 หรือ 87 ปี
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายงานในเดือนธันวาคมว่า คลื่นความร้อนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อมมากถึง 491 ศพ ทุบสถิติของปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 309 ศพอย่างราบคาบ โดยผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมด เป็นผู้มีอายุต่ำกว่า 40 ปี และมีปัจจัยเสริมคือยาเสพติดและแอลกอฮอล์
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : listverse