ช่วงเวลาแห่งความสุขที่หลายคนเฝ้ารอในเดือน ธ.ค. ได้วนมาอีกครั้งอย่าง “คริสต์มาส” ยังสร้างบรรยากาศแห่งความสุขที่แสนอบอุ่นท่ามกลางอากาศอันหนาวเย็นทั่วโลก แต่หารู้ไม่ว่าในอดีตนั้นเคยมีการ “ห้ามไม่ให้เฉลิมฉลองในเทศกาลคริสต์มาส” ในทวีปยุโรปด้วย
เมื่อปี 2183 รัฐสภาสกอตแลนด์ ได้ห้ามไม่ให้มีการเฉลิมฉลองเทศกาลยูล (Yule) ซึ่งเป็นเทศกาลฤดูหนาวของชาวเคลต์ กลุ่มชนเผ่าที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทางตอนกลางของยุโรป จัดขึ้นระหว่าง 21 ธ.ค. ถึง 1 ม.ค. แต่เพราะรัฐบาลมองว่าเทศกาลนี้เป็นวัฒนธรรมของคนนอกรีต และขณะนั้นสกอตแลนต์ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปร เตสแตนต์ จึงต้องพยายามกำจัดอะไรที่เป็นแบบนิกายโรมันคาทอลิกไปเสีย ก่อนที่สุดท้ายจะมีการยกเลิกข้อห้ามดังกล่าวไปในปี 2501
ส่วนในปี 2190 ยุคสมัยที่ อังกฤษ อยู่ภายใต้การปกครองของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ผู้นำการปฏิวัติล้มระบอบราชวงศ์สจวต และนับถือศาสนาคริสต์นิกายพิวริตันและเคร่งศาสนาอย่างมาก ได้แบนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริสต์ คาทอลิกในประเทศ ทั้งเทศกาลคริสต์มาส รวมไปถึงวันอีสเตอร์ ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองการคืนพระชนม์ของพระเยซู แต่พอโอลิเวอร์ ครอมเวลล์เสียชีวิต ข้อห้ามนี้ก็ถูกยกเลิกไปในปี 2203 รวมถึงฟื้นฟูระบอบกษัตริย์อังกฤษอีกครั้ง
เช่นเดียวกับในปี 2336 ห้วงเวลาของการปฏิวัติ ฝรั่งเศส มีการยกเลิกวันหยุดทางศาสนาเพื่อลดความยึดโยงกับศาสนาคริสต์ และเพื่อให้ประชาชนเลิกศรัทธาในพระเจ้า โบสถ์ต่างๆในฝรั่งเศสจึงต้องปิดในระหว่างวันที่ 24-25 ธ.ค. ก่อนยกเลิกในปี 2344 หลังจากที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ลงนามในความตกลงระหว่างฝรั่งเศสกับสันตะสำนัก (Holy See) ที่มีเนื้อหาว่าศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเป็นของประชาชนส่วนใหญ่ในฝรั่งเศส
...
ส่วนที่ สหภาพโซเวียต ก็พยายามแยกศาสนาให้ออกไปจากชีวิตประจำวันของผู้คน ตามแนวคิดสังคมนิยมและการไม่นับถือพระเจ้า ไม่ให้จัดกิจกรรมหรือเทศกาลที่เกี่ยวกับศาสนาใดๆ ในปี 2472 จัดทำปฏิทินให้เหลือเพียง 5 วันต่อสัปดาห์ ไม่มีวันหยุดและวันสำคัญทางศาสนา ศาสนสถานหลายแห่งกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ลัทธิอเทวนิยม แต่สุดท้ายก็กลับมาเปิดทำการใหม่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนประชาชนก็ยังคงศรัทธาในศาสนาดังเดิม.
ญาทิตา เอราวรรณ
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม