นักอนุรักษ์ในกัมพูชาพบ "ปลาบึก" ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่หายาก 6 ตัวในแม่น้ำโขง ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา โดยจับมาแล้วปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ นับเป็นการสะท้อนถึงความหวังในการอนุรักษ์ปลาบึกที่กำลังใกล้สูญพันธุ์
วันที่ 16 ธันวาคม 2567 โครงการมหัศจรรย์แห่งลุ่มน้ำโขง (Wonders of the Mekong) เปิดเผยว่า นักอนุรัหษ์พบ "ปลาบึก" (Mekong giant catfish) หนึ่งในปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดและหายากที่สุดในโลก ทั้งหมด 6 ตัว ถูกจับขึ้นมาแล้วปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติในกัมพูชาภายในระยะเวลา 5 วันที่ผ่านมา
นักอนุรักษ์เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. จับปลาบึกได้ 2 ตัวโดยบังเอิญในแม่น้ำโตนเลสาบใกล้กรุงพนมเปญ จากนั้นจึงติดป้ายทำสัญลักษณ์และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และในวันที่ 10 ธ.ค. มีปลาบึกอีก 4 ตัวถูกจับและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในหลายจุดตามแนวแม่น้ำโขงและแม่น้ำโตนเลสาบ ซึ่งในจำนวนนี้มีปลาบึก 2 ตัวที่มีน้ำหนัก 120 กิโลกรัม และ 131 กิโลกรัม ตามลำดับ และยาวมากกว่า 2 เมตรทั้ง 2 ตัว
พร้อมกันนี้ระบุว่า นักวิจัยได้ติดป้ายทำสัญลักษณ์ปลาทุกตัวที่จับได้เพื่อช่วยในการติดตามและวิจัยในระยะยาว โดยปลาบึก สามารถเจริญเติบโตและมีความยาวได้ถึงเกือบ 3 เมตร หนักได้ถึง 300 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์
เซ็บ โฮแกน นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเนวาดา รีโน กล่าวว่า การพบเห็นปลาบึกเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นโอกาสที่หาได้ยากในการพบเจอปลาที่หายากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก แต่ยังให้ข้อมูลที่สำคัญสำหรับการทำความเข้าใจและปกป้องเส้นทางการอพยพและแหล่งวางไข่ ซึ่งจำเป็นต่อการอยู่รอดของปลาบึกอีกด้วย
ทั้งนี้ ปลาบึกที่ถูกจับได้เหล่านี้เป็นผลมาจากงานอนุรักษ์และการมีส่วนร่วมของชุมชนมานานหลายทศวรรษ และส่งมอบความหวังใหม่สำหรับการอยู่รอดของปลาบึก แม้ว่าปัจจุบันจะพบปลาชนิดนี้ได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ ในแหล่งที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของพวกมันส่วนใหญ่
...