ราคากาแฟอาราบิกา พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากความกังวลเกี่ยวกับอุปทานทั่วโลก ซึ่งทำลายสถิติเดิมที่เคยทำไว้เมื่อ 47 ปีก่อน

ผู้ดื่มกาแฟอาจพบว่า เครื่องดื่มยอดนิยมมีราคาแพงขึ้น เนื่องจากราคากาแฟอาราบิกาในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำลายสถิติเดิมที่เคยทำไว้เมื่อ 47 ปีก่อน

ราคากาแฟอาราบิกา ที่มีการซื้อขายล่วงหน้าในตลาด ICE พุ่งขึ้น 4.1% สู่ระดับ 3.44 ดอลลาร์ต่อปอนด์ (453.6 กรัม) ในช่วงเที่ยงวันวันนี้ (11 ธ.ค.) ในยุโรป ซึ่งทำลายสถิติเดิมที่ประมาณ 3.356 ดอลลาร์ที่ทำไว้เมื่อปี 1977

ราคากาแฟอาราบิกาในตลาดซื้อขายล่วงหน้าพุ่งขึ้นมากกว่า 83% ในปีนี้ เนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวในปี 2025 ของบราซิล โดยผู้ผลิตกาแฟจากอเมริกาใต้รายนี้ประสบภัยแล้งครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 70 ปี ในเดือนสิงหาคมและกันยายน ตามมาด้วยฝนตกหนักในเดือนตุลาคม

แม้ว่ากาแฟจะออกดอกได้ดีเนื่องจากฝนที่ตกเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ก็มีความกังวลว่าดอกไม้จะไม่ติดกิ่ง ซึ่งอาจส่งผลให้ผลผลิตเสียหายในฤดูกาลหน้า
เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา บริษัท Volcafe ซึ่งเป็นผู้ค้ากาแฟรายใหญ่ได้ปรับลดคาดการณ์ผลผลิตกาแฟอาราบิกา ในปี 2025-2026 ลงเกือบ 25% เหลือ 34.4 ล้านกระสอบ ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขาดดุลเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นการปรับลดประมาณการในเดือนกันยายนลงเกือบ 11 ล้านกระสอบ ตามรายงานของบลูมเบิร์ก

กาแฟอาราบิกาผสมโรบัสต้ามีราคาพุ่งขึ้นเกือบ 80% ในปีนี้ อยู่ที่ 5,471 ดอลลาร์ต่อตัน เนื่องจากฤดูเพาะปลูกที่ที่ได้รับผลกระทบในเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ โดยความแห้งแล้งในช่วงเพาะปลูกตามมาด้วยฝนตกหนักในช่วงเก็บเกี่ยว ส่วนโกโก้มีราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าเป็น 10,450 ดอลลาร์ต่อตันในปีนี้

...

การผลิตสินค้าโภคภัณฑ์อ่อนยังคงประสบปัญหาในการตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยทั้งกาแฟและโกโก้ปลูกในพื้นที่เขตร้อนที่แคบ ความเข้มข้นดังกล่าวทำให้สินค้าโภคภัณฑ์อ่อนมีความเสี่ยงต่อสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในบราซิลและเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 56% ของผลผลิตทั่วโลก

ทั้งนี้ กาแฟเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการซื้อขายมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากน้ำมันดิบ และความต้องการก็เพิ่มสูงขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในจีน อย่างไรก็ตาม มีเพียงไม่กี่ประเทศผู้ผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้ ผู้ผลิตหลัก ได้แก่ บราซิล เวียดนาม โคลอมเบีย อินโดนีเซีย และเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นประเทศเขตร้อนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมาก.

ที่มา The Wall Street Journal

อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign