เคบายาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติของยูเนสโกแล้ว โดยเป็นมรดกวัฒนธรรมร่วม 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย
ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 (The nineteenth session of the Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ซึ่งมีสมาชิก 24 ประเทศ ที่กรุงอะซุนซิออง ประเทศปารากวัย
เคบายาได้รับการเสนอชื่อโดยประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย และถือเป็นการเสนอชื่อจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด ในแง่ของจำนวนประเทศที่เสนอชื่อ
การเสนอชื่อเป็นไปตามเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ประการที่ IGC ใช้ ประเทศผู้เสนอชื่อได้รับการยกย่องถึงระดับการมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคในระหว่างกระบวนการเสนอชื่อพิจารณา
ยูเนสโกระบุในเว็บไซต์ว่า เคบายาเป็นเสื้อเปิดหน้าซึ่งมักประดับด้วยงานปักที่ประณีตและสวมใส่กับอุปกรณ์ยึด เช่น เข็มกลัดหรือกระดุม มีความยาวแตกต่างกันไปและสามารถสวมใส่กับผ้าโสร่งที่เข้าชุดกัน เคบายาเป็นวิธีการแต่งกายที่พัฒนาตามไลฟ์สไตล์ของผู้หญิงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสวมใส่ได้ทั้งในงานทางการและไม่เป็นทางการ งานสังสรรค์ทางสังคมและงานเทศกาล นอกจากนี้ยังสวมใส่ในศิลปะการแสดง เช่น การแสดงเต้นรำ ละครเวที และภาพยนตร์ การออกแบบร่วมสมัยมักปรากฏในการประกวดนางงามและพิธีมอบรางวัลเพื่อสะท้อนถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของผู้สวมใส่
การทำเคบายาต้องใช้ทักษะและความรู้เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเตรียม การออกแบบ การคัดเลือก และการตัดเย็บผ้าและเครื่องประดับ ตลอดจนรูปแบบการเย็บและปักที่แตกต่างกัน โดยปกติ ทักษะและความรู้เหล่านี้จะถูกถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกสาวอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ชายก็มีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน และมีการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการผ่านโรงเรียนและเวิร์กช็อป
...
เคบายาเป็นส่วนสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชุมชนต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าวิธีการทำและการสวมใส่เคบาย่าจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่ก็ยังคงเป็นองค์ประกอบทางวัฒนธรรมร่วมกันที่ข้ามพ้นจากเชื้อชาติ ศาสนา และพรมแดนต่างๆ เอื้อให้เกิดการสนทนาและการรวมตัวของชุมชน
รายการมรดกทางวัฒนธรรมจัดทำขึ้นโดยยูเนสโก เมื่อปี 2551 และประกอบด้วยองค์ประกอบมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากประเทศต่างๆโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการปฏิบัติและการแสดงออกดังกล่าว ส่งเสริมให้เกิดการสนทนาที่เคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตลอดจนให้การยอมรับอย่างเหมาะสมต่อการปฏิบัติและการแสดงออกของชุมชนทั่วโลก.
ที่มา UNESCO
อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign