มีคนฝากให้อาจารย์นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ช่วยดูตลาดกาแฟในราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย คนฝากบอกว่า ตนต้องการขยายตลาดของกาแฟสวนจันท์เข้าไปยังตะวันออกกลาง ความเข้าใจดั้งเดิมของพวกเราก็คือ ซาอุดีอาระเบียไม่น่าจะปลูกกาแฟได้ แต่เมื่อไปถึงก็ต้องประหลาดใจ เมื่อทราบว่ารัฐบาลซาอุดีอาระเบียที่บริหารโดยเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ อัล ซาอูด ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและประธานสภากิจการเศรษฐกิจและการพัฒนา ได้ประกาศให้ ค.ศ.2022 เป็น Year of Saudi Coffee
รัฐบาลซาอุฯสนับสนุนด้านการเงินและเทคโนโลยีให้เกษตรกรปลูกกาแฟกันอย่างจริงจังในภูมิภาคจาซาน ซึ่งอยู่ติดกับชายฝั่งทะเลแดงใกล้กับเยเมน เกษตรกรซาอุฯในเมืองอัลดาเยอร์ ปลูกกาแฟตามนโยบาย Vision 2030 ของนายกฯ โดยรัฐบาลซาอุฯมุ่งมั่นให้ราชอาณาจักรของตนผลิตเฉพาะกาแฟพรีเมียมสายพันธุ์อาราบิกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกาแฟเคาหลานี (บางคนออกเสียงว่าเคาว์ลานี) ที่มีรสชาติเข้มข้นและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
การเดินทางไปซาอุฯระหว่าง 13-20 พฤศจิกายน 2024 อาจารย์นิติภูมิธณัฐและคณะมีโอกาสร่วมประชุมและฟังบรรยายสรุปของข้าราชการกระทรวงการลงทุนซาอุฯ ซึ่งในที่ประชุมมีที่ปรึกษาชาวเนเธอร์แลนด์มาร่วมนั่งประชุมอยู่ด้วย
การสนทนากับที่ปรึกษาชาวดัตช์ ทำให้ทราบว่ารัฐบาลซาอุฯ จ้างที่ปรึกษาเข้ามาดูแลเรื่องการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนีโอม (NEOM) โครงการเมืองแห่งอนาคต
หลายท่านอาจจะงุนงงสงสัยว่าซาอุฯมีแต่ทะเลทราย จะเอาน้ำที่ไหนมาใช้ในการเกษตร สิ่งหนึ่งซึ่งซาอุฯเริ่มที่จะประสบความสำเร็จก็คือ Desalination หรือการใช้เทคโนโลยีกรองน้ำทะเลเพื่อผลิตเป็นน้ำสะอาดสำหรับการเกษตร และนอกจากนั้นยังประสบความสำเร็จขั้นสูงในการรีไซเคิลน้ำที่ใช้แล้วมาเป็นน้ำที่ใช้สำหรับการชลประทาน
...
มนุษย์เรานะครับ ถ้ามุ่งมั่นทำอะไรจริงจัง ความมุ่งมั่นจะนำไปสู่ความสำเร็จเสมอ อย่างในจังหวัดตาบูก รัฐบาลซาอุฯ ใช้ Agri–tech Innovation และ Internet of Things เข้าไปบริหารจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและลดการใช้ทรัพยากร (เช่น น้ำ) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ค.ศ.2005-2015 อาจารย์นิติภูมิธณัฐเป็นประธานที่ปรึกษาของบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนในประเทศตลาดใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย (BOI) และมีโอกาสไปเก็บข้อมูลที่เอธิโอเปีย 2 ครั้ง และพบว่าซาอุฯเข้าไปลงทุนปลูกข้าวในเอธิโอเปียด้วยจำนวนเงินหลายพันล้านบาท
สมัยก่อนตอนโน้น ซาอุฯใช้เงิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3.5 หมื่นล้านบาทไปลงทุนด้านการเกษตรใน 5 ประเทศ คือปลูกข้าวในเอธิโอเปีย ปลูกพืชอาหารในซูดาน ซื้อที่ดินเพื่อปลูกธัญพืชและพืชน้ำมันในอูเครน ปลูกพืชอาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์เกษตรในออสเตรเลีย รวมทั้งลงทุนทางด้านการเกษตรหลากหลายในบราซิล
ทั้งหมดทั้งปวงที่ซาอุฯทุ่มเททางด้านการเกษตรในสมัยนั้น ก็เพื่อความมั่นคงด้านอาหารของประชาชนคนซาอุฯ 36.68 ล้าน
แต่ใน Vision 2030 ซาอุฯต้องการผลิตอาหารในแผ่นดินของตัวเอง
ถ้าผู้อ่านท่านที่เป็นเพื่อนไลน์ไอดี @ntp59 เข้าไปในหน้าไลน์วูม (Line Voom) ก็จะเห็นภาพที่อาจารย์นิติภูมิธณัฐถ่ายจากซุปเปอร์มาร์เกตในซาอุฯ
Banana flower หรือหัวปลีที่ปลูกในซาอุฯ ขายในราคากิโลกรัมละ 9.95 ริยัล (99.50 บาท) Banana pindi (แกนต้นกล้วย) ขายในราคาเดียวกัน เดินไปดูที่แผนกใบตอง พบว่าใบตองที่ผลิตในซาอุฯมีไม่พอ ต้องนำเข้ามาจากอินเดีย
30 กว่าปีที่แล้ว พี่น้องแรงงานไทยหลายแสนไปซาอุฯ เพื่อทำงานด้านก่อสร้าง สมัยนั้นซาอุฯต้องการพัฒนาระบบคมนาคม ถนนหนทาง วางท่อน้ำมันและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จนปัจจุบันทุกวันนี้ โครงสร้างพื้นฐานของซาอุฯอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สามารถเชื่อมระโนงโยงเยงไปได้ทั้งประเทศ
รัฐบาลจึงหันมาสนใจในเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร
ไทยเป็นประเทศที่มีผู้ชำนาญด้านการผลิตอาหารเยอะ
รัฐบาลไทยน่าจะไปจับมือกับซาอุฯทางด้านนี้นะครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com
คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม