25 พฤศจิกายน 2024 ทรัมป์ประกาศจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกในอัตราร้อยละ 25 และจะเก็บภาษีเพิ่มเติมอีกร้อยละ 10 นอกเหนือจากภาษีอื่นๆที่เรียกเก็บสินค้าที่มาจากจีน

“ในวันที่ 20 มกราคม (2025) หนึ่งในบรรดาคำสั่งบริหารฉบับแรกๆที่ข้าฯจะลงนามก็คือ เอกสารที่จะเก็บภาษีร้อยละ 25 จากสินค้าเม็กซิโกและแคนาดา” นี่คือข้อความของทรัมป์ที่โพสต์ในแพลตฟอร์ม Truth Social

1 มกราคม 1994 สหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา มีข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือที่เรียกว่า NAFTA เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ยกเลิกอุปสรรคทางการค้า ทั้งในด้านภาษีศุลกากรและการจำกัดโควตา เพื่อทำให้สามารถแข่งขันกับภูมิภาคเศรษฐกิจอื่นอย่างสหภาพยุโรป เพื่อลดต้นทุนทางการค้าและขยายธุรกิจในแต่ละประเทศสำหรับตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรเกือบ 500ล้านคน

ต่อมาพบว่าบริษัทส่วนใหญ่ย้ายฐานการผลิตไปเม็กซิโกเพราะค่าแรงงานในเม็กซิโกถูกกว่า ทำให้มีการละเมิดสิทธิแรงงานในเม็กซิโก และมีผลเสียทางด้านสิ่งแวดล้อม ผลประโยชน์ของทั้ง 3 ประเทศในประเด็นค่าแรงไม่สมดุลกัน จึงมีการยกเลิกข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ และมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 กรกฎาคม 2020

3 ประเทศตกลงใช้พหุภาคีด้านการค้าร่วมระหว่างสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโกใหม่ ภายใต้ข้อตกลงที่เรียกว่า United States–Mexico-Canada Agreement หรือ USMCA ข้อใหญ่ใจความของข้อตกลงนี้ยังอยู่ที่การได้รับยกเว้นหรือได้รับการลดหย่อนภาษีศุลกากร แต่เพิ่มกฎแหล่งกำเนิดสินค้าใหม่ สิทธิแรงงาน ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ยกระดับการคุ้มครองข้อมูล และเสรีภาพในด้านการค้าดิจิทัล

ในช่วงที่เป็นประธานาธิบดีครั้งแรก ทรัมป์เป็นคนผลักดันการเจรจาและเปลี่ยนแปลงข้อตกลง NAFTA มาเป็น USMCA โดยบอกว่านี่เป็นหนึ่งในนโยบายด้านการค้า ‘สหรัฐฯต้องมาก่อน’ ถ้าหากทรัมป์ลงนามขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดาในวันที่แกรับตำแหน่งครั้งที่ 2 ก็หมายความว่าแกเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า เป็นคนผลักดันให้มีการเจรจา USMCA แต่กลับมาละเมิดข้อตกลงของ USMCA เสียเอง

ทรัมป์ยอมละเมิดข้อตกลงเพราะแนวคิด America First แกต้องการปกป้องอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ ทรัมป์จะใช้ภาษีเป็นเครื่องมือกดดันเม็กซิโกและแคนาดาให้ปรับตัวและมีนโยบายตามความต้องการของตน ทรัมป์มองว่าแคนาดาและเม็กซิโกได้รับประโยชน์มากเกินไป มีการสนับสนุนสินค้าเกษตรหรืออุดหนุนอุตสาหกรรมบางประเภท

...

ทรัมป์โยนข้อกล่าวหา dumping ใส่แคนาดา ว่าแคนาดาส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมในราคาต่ำ ทรัมป์เชื่อว่าการขึ้นภาษีจะเป็นการสร้างแรงกดดันให้แคนาดาและเม็กซิโกปรับปรุงเงื่อนไขการส่งออก หรือเปิดตลาดให้สินค้าอเมริกันมากขึ้น แม้การขึ้นภาษีของทรัมป์ขัดกับหลักการการค้าเสรีของ USMCA แต่ทรัมป์ก็อ้างว่าตนจะมีอำนาจภายใต้กฎหมายการค้าภายในประเทศที่สามารถเรียกเก็บภาษีเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติได้

นอกจากตึงเครียดกับจีนแล้ว สหรัฐฯในยุคของทรัมป์ กำลังจะมีความตึงเครียดกับแคนาดาและเม็กซิโก คำว่า ‘พันธมิตรทางเศรษฐกิจ’ ไม่มีจริงในยุคของทรัมป์ เมื่อภาษีเพิ่ม ต้นทุนการนำเข้าก็เพิ่ม ต้นทุนเพิ่มสินค้าก็จะมีราคาแพงขึ้น คนอเมริกันที่เคยซื้อสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาก็จะหันไปซื้อสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯซึ่งมีราคาถูกกว่าเพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า

หลังทรัมป์ประกาศว่าจะขึ้นภาษีสินค้าจีนอีกร้อยละ 10 ในวันแรกที่ตัวเองเข้าทำงาน เรื่องนี้ทำให้เกิดความโกลาหลอลหม่านกับโรงงานผลิตของจีน ตอนนี้โรงงานจีนหลายแห่งเตรียมย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศอื่น

รัฐบาลจีนก็คงจะต้องแก้ไขด้วยการสนับสนุนให้เอกชนไปหาตลาดใหม่ในเอเชีย ยุโรป หรือแอฟริกา เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ จีนก็คงจะต้องโต้ตอบด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐฯหรือต้องออกมาตรการมาบีบบริษัทอเมริกันที่ทำธุรกิจในประเทศจีน

จีนผลิตและส่งออก rare earth materials หรือแร่หายากเบอร์ 1 ของโลก หลังจากทรัมป์ดำรงตำแหน่งครั้งที่ 2 จีนก็คงจะจำกัดการส่งออกแร่หายากไปยังสหรัฐฯเช่นกัน

ทรัมป์ต้องการสร้างภาพว่าตัวเองต้องการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ แต่การหิวแสงของทรัมป์อาจจะทำให้ผู้บริโภคอเมริกันไม่พอใจเพราะต้องหาซื้อสินค้าที่ผลิตจากจีนในราคาที่สูงขึ้น.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com 

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม