การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ หากผลออกมาว่า "โดนัลด์ ทรัมป์" คว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง มีคะแนนนำเหนือคามาลา แฮร์ริส และได้กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯอีกสมัย สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสหรัฐฯ และโลกโดยรวมย่อมไม่ใช่เรื่องเล็กๆ การกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อทิศทางนโยบายต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งนโยบายหลายประเด็นจากสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งก่อนหน้านี้ อาจถูกนำมาปัดฝุ่น หรือปรับเปลี่ยนตามแนวคิด "อเมริกาต้องมาก่อน" (America First)


นโยบายต่างประเทศแบบ "America First" 

การกลับมาของทรัมป์อาจหมายถึงการกลับมาปัดฝุ่นนโยบายด้านการต่างประเทศที่เคยมุ่งเน้นการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นหลัก ผ่านแนวคิดแบบ "อเมริกาต้องมาก่อน" โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

โดยการปกป้องงานและธุรกิจในสหรัฐฯเองอาจกลับมาเป็นหัวใจหลักของการบริหารจัดการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นโยบายที่เคยใช้ อย่างการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าให้สูงขึ้น เราอาจได้เห็นการกลับมาเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับประเทศคู่ค้าอย่างแข็งกร้าว อาทิ จีน และสหภาพยุโรป 

...

การกลับมาของทรัมป์ยังอาจนำไปสู่การถอนตัวจากความร่วมมือระหว่างประเทศที่ทรัมป์มองว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ ดังเช่นที่เคยทำกับ องค์การอนามัยโลก และ ข้อตกลงปารีส เป็นประเทศผู้นำในการแก้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนโยบายการลดบทบาทของสหรัฐฯในองค์กรและข้อตกลงระหว่างประเทศเหล่านี้สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับการรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในระยะสั้น มากกว่าความร่วมมือในระยะยาว ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงของโลกและการรับมือกับปัญหาสากลอย่างเช่น การแพร่ระบาดของโรคหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต


ผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ
ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงกับสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ในหลายด้าน อาทิด้านการค้าและเศรษฐกิจ หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง สหรัฐฯ อาจกลับไปใช้นโยบายการค้ากับไทยในลักษณะทวิภาคี มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการเจรจาแบบสองฝ่ายที่เน้นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ

สิ่งที่เราอาจได้เห็นคือการที่สหรัฐฯจะพยายามกดดันให้ไทยเปิดตลาดสำหรับสินค้าสหรัฐฯ และปฏิบัติตามเงื่อนไขการค้าที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ 

ขณะที่ไทยเองก็พยายามรักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญ หากทรัมป์ดำเนินนโยบายต่อต้านจีนอย่างเข้มข้น ไทยอาจถูกกดดันให้เลือกข้างระหว่างสองมหาอำนาจ ซึ่งจะทำให้ไทยอยู่ในสถานะที่เปราะบาง
ด้านการทหารและความมั่นคง นโยบายต่างประเทศของทรัมป์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจเน้นไปที่การรักษาสมดุลอำนาจเพื่อป้องกันการขยายอิทธิพลของจีน

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์เคยแสดงท่าทีไม่ต้องการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการปกป้องพันธมิตรต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจทำให้ความร่วมมือทางทหารระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ลดลงหรือเปลี่ยนไป

นอกจากนี้ การที่ทรัมป์มีแนวคิดว่า สหรัฐฯ ควรจะลดค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนพันธมิตรที่ไม่ได้มีผลประโยชน์ตรงกับสหรัฐฯอย่างชัดเจน อาจส่งผลต่อการสนับสนุนทางทหารในภูมิภาคนี้ แม้ว่าไทยจะเป็นหนึ่งในพันธมิตรทางทหารที่ยาวนานที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชียก็ตาม 



ผลกระทบเชิงภูมิรัฐศาสตร์ต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
การกลับมาของทรัมป์ในตำแหน่งประธานาธิบดีอาจทำให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องเผชิญกับความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องของการขยายอิทธิพลของจีน หากทรัมป์ยังคงนโยบายแข็งกร้าวกับจีน ประเทศซึ่งมีความสัมพันธ์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองกับจีน อาจต้องรักษาสมดุลระหว่างสองฝ่ายนี้อย่างยากลำบาก

...

นอกจากนี้ หากทรัมป์ถอนตัวหรือปรับเปลี่ยนบทบาทของสหรัฐฯ ในการเป็นผู้รักษาความมั่นคงในภูมิภาค ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจหันไปพึ่งพาความมั่นคงจากที่อื่นมากขึ้น อาทิ การพัฒนาและขยายความร่วมมือภายในกลุ่ม อาเซียน และยังต้องระวังการถูกมองว่าเลือกข้างในความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ


ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ที่ผ่านมาทรัมป์เคยพาสหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาแล้ว โดยทรัมป์มองว่าข้อตกลงนี้ ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เนื่องจากกดดันให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยที่ประเทศอื่น ๆ ได้ประโยชน์มากกว่า

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า หากทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอาจถูกละเลยหรือถูกผลักให้เป็นภาระของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับสากล ซึ่งตอนนี้หลายประเทศต่างกำลังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ.