การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปีนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งของการเมืองสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่ออนาคตทางการเมืองของประเทศ แต่ยังมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอเมริกัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้าน ทั้งสงครามการสู้รบยืดเยื้อในหลายพื้นที่ ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ความตึงเครียดทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการทำแท้ง และแนวทางการจัดการกับผู้อพยพที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเร่งด่วนในการตอบสนองต่อการลดผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในระดับโลก ในขณะที่ผู้สมัครจากเดโมแครต และรีพับลิกันต่างนำเสนอนโยบายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ของฝ่ายใดที่จะโดนใจผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งชาวอเมริกันในการเลือกตั้งครั้งนี้มากกว่ากัน
นโยบายด้านเศรษฐกิจ
"คามาลา แฮร์ริส" ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต ประกาศเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและออกมาตรการกระตุ้นการเติบโตของ GDP ในระยะสั้น ตลอดจนเพิ่มการใช้จ่ายของผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังมีการเสนอแพคเกจช่วยเหลือทางสังคมที่มุ่งหวังจะลดความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนการเข้าถึงบริการด้านการศึกษาและสุขภาพ เรียกได้ว่านโยบายด้านเศรษฐกิจของคามาลา แฮร์ริสมุ่งเน้นไปที่การสร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและการสนับสนุนกลุ่มคนรายได้น้อย
...
-สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก ส่งเสริมการเข้าถึงเงินทุนและทรัพยากรสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะธุรกิจที่มีเจ้าของเป็นคนผิวสีและผู้หญิง
-สนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มีแนวทางในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขนส่ง การศึกษา และสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
-เน้นการสร้างงานที่มีคุณภาพ สนับสนุนการฝึกอบรมทักษะเพื่อเตรียมคนทำงานในตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป
-ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ผลักดันนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำและการสนับสนุนสวัสดิการสังคม
"โดนัลด์ ทรัมป์" ผู้แทนพรรครีพับลิกัน ประกาศว่าจะลดกำแพงภาษีที่มีอยู่ โดยมุ่งหวังให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้เร็วขึ้น ขณะที่การลดภาษีอาจนำไปสู่การเพิ่มการลงทุนจากภาคเอกชน แต่มีข้อกังวลว่าการลดภาษีอย่างมีนัยสำคัญอาจทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ และส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในด้านสาธารณสุขและการศึกษา โดยทรัมป์มุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
-ลดภาษีผ่านกฎหมาย Tax Cuts and Jobs Act ในปี 2017 ซึ่งลดอัตราภาษีนิติบุคคลจาก 35% เป็น 21% และให้การลดภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา ส่งผลให้มีการกระตุ้นการลงทุนจากบริษัทต่างๆ
-สนับสนุนการผลิตในประเทศ ด้วยนโยบาย "America First" มุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตในประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะจากประเทศจีน
-ควบคุมกฎระเบียบ ผ่อนปรนกฎระเบียบทางธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้นและมีต้นทุนที่ต่ำลง
-เน้นสร้างงาน ส่งเสริมการสร้างงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิต
-การค้า จะมีการเจรจาข้อตกลงการค้าหลายฉบับใหม่ เช่น ข้อตกลง USMCA ที่แทนที่ NAFTA โดยมุ่งหวังที่จะสร้างเงื่อนไขที่ดีกว่าสำหรับสหรัฐฯ
-ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยเงินลงทุนจากเอกชน โดยทรัมป์เสนอให้มีการใช้เงินลงทุนจากภาคเอกชนร่วมกับเงินจากรัฐบาลกลาง โดยการสร้างแรงจูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้จะลดขั้นตอนและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการ เพื่อให้สามารถเริ่มโครงการได้รวดเร็วขึ้น เพื่อช่วยสร้างงานใหม่และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง
นโยบายส่งเสริมสิทธิการทำแท้ง
พรรคเดโมแครตสนับสนุนสิทธิของผู้หญิงในการทำแท้ง โดยเชื่อว่าการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่ปลอดภัยเป็นสิทธิพื้นฐาน นโยบายนี้สะท้อนถึงความต้องการสร้างความเท่าเทียมในสังคม และการสนับสนุนจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน โดยการทำแท้งที่ถูกกฎหมายช่วยลดอัตราการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยที่เป็นอันตรายต่อผู้หญิง
ในทางตรงกันข้าม ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน มีท่าทีจะจำกัดสิทธิในการทำแท้ง โดยมีการเสนอให้มีข้อกำหนดที่เข้มงวด ซึ่งสามารถทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งอย่างปลอดภัย แนวทางนี้อาจสะท้อนถึงค่านิยมทางศาสนาและวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ลงคะแนน
...
ท่าทีต่อการเปิดรับผู้อพยพ
พรรคเดโมแครตสนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้ผู้อพยพที่มีความสามารถได้รับสิทธิที่เหมาะสม ซึ่งอาจรวมถึงการสร้างเส้นทางสู่ความเป็นพลเมือง ซึ่งมองเห็นว่าการเปิดรับผู้อพยพสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้และจะนำมาซึ่งแรงงานที่มีความสามารถและนวัตกรรมใหม่ๆ
-ปฏิรูประบบการเข้าเมือง สนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเมือง เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและเป็นธรรมมากขึ้น รวมถึงการช่วยให้ผู้อพยพสามารถเข้าสู่ระบบได้ง่ายขึ้น
-คุ้มครองผู้ลี้ภัย สนับสนุนการให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยและผู้ที่หลบหนีจากความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน
-สนับสนุน DACA (Deferred Action for Childhood Arrivals) เพื่อปกป้องผู้อพยพที่เข้ามาในประเทศในวัยเด็กจากการถูกเนรเทศ
-ยกเลิกนโยบายที่เข้มงวดหรือไม่เป็นธรรม เช่น การแยกครอบครัวและการปราบปรามผู้อพยพ
-การสร้างทางเลือกสำหรับผู้อพยพ มุ่งเน้นการสร้างทางเลือกและโอกาสสำหรับผู้อพยพในการเข้าสู่สังคมและการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างระบบที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและการรวมกลุ่มในสังคม
...
ในทางกลับกัน พรรครีพับลิกันมักมีแนวทางที่มุ่งเน้นการควบคุมชายแดนและการจัดการส่งกลับผู้ลักลอบเข้าประเทศ โดยเสนอให้มีมาตรการที่เข้มงวดในการตรวจสอบและจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมือง สร้างกำแพงบริเวณชายแดน ที่ติดกับเม็กซิโก เพื่อป้องกันการข้ามแดนที่ผิดกฎหมายและลดการลักลอบเข้าเมือง
นอกจากนี้ทรัมป์จะสั่งยกเลิกโครงการ Deferred Action for Childhood Arrivals (DACA) ที่ช่วยปกป้องผู้อพยพที่เข้ามาในประเทศในวัยเด็ก
นอกจากนี้จะลดจำนวนผู้อพยพที่ได้รับสถานะถาวร หรือวีซ่าผู้อพยพ เพิ่มบุคคลากรเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งอย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนและคัดค้านจากหลายฝ่าย เนื่องจากมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้อพยพและชุมชนต่างๆ ในสหรัฐฯอย่างมาก
นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
พรรคเดโมแครตให้ความสำคัญกับการต่อสู้แก้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสนับสนุนข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น ข้อตกลงปารีส เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลงทุนในพลังงานสะอาด มีศักยภาพในการสร้างงานใหม่และกระตุ้นการเติบโตในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
...
โดยเน้นการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลงทุนในพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนเพื่อสร้างงานใหม่และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
แฮร์ริสเคยกล่าวถึงวิกฤตสภาพอากาศว่าเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ เธอยังสนับสนุนนโยบายด้านสภาพอากาศของประธานาธิบดีโจ ไบเดน รวมถึงการตัดสินใจกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีส 2015 ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก นอกจากนี้เธอลงคะแนนเสียงชี้ขาดในวุฒิสภาเพื่อผ่านร่างกฎหมายด้านพลังงานสะอาดและการลงทุนด้านสภาพอากาศที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
ในขณะที่พรรครีพับลิกันมีแนวทางที่สนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งอาจส่งผลดีในระยะสั้นต่อการสร้างงาน แต่ก็มีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว นโยบายเหล่านี้อาจทำให้สหรัฐฯ สูญเสียบทบาทในการเป็นผู้นำแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก
ทั้งนี้ นโยบายของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้ ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความแตกต่างทางอุดมการณ์ แต่ยังเป็นโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่เศรษฐกิจ การเคารพสิทธิสตรี การจัดการกับปัญหาผู้อพยพ ไปจนถึงการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ.