• ผลวิจัยล่าสุดชี้ โควิด-19 อาจเพิ่มความเสี่ยงของหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองและทำให้เสียชีวิตได้ในช่วงระยะ 3 ปีหลังจากการติดเชื้อ
  • ผลการศึกษาครั้งนี้ ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Atherosclerosis, Thrombosis และ Vascular Biology เมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยอาศัยเวชระเบียนจากคนไข้ประมาณหนึ่งใน 4 ล้านคนที่ลงทะเบียนในฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เรียกว่า UK Biobank
  • จากฐานข้อมูลดังกล่าว นักวิจัยพบว่า คนไข้ที่มีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวกในช่วงปี 2020 มีความเสี่ยงที่จะมีอาการหัวใจวาย หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือเสียชีวิตได้มากกว่าคนที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงเวลานั้นถึง 2 เท่า

แม้ว่าการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 จะผ่านไปแล้ว แต่ก็ยังคงมีผู้ป่วยจากโควิด-19 ที่กลายพันธุ์เกิดขึ้นเป็นระยะ เพียงแต่อาการป่วยได้ลดความรุนแรงลงไปจากเดิมมาก อย่างไรก็ตาม การที่ไม่ติดเชื้อเลย หรือไม่ติดเชื้อซ้ำย่อมเป็นการดีที่สุด เพราะล่าสุดผลงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Atherosclerosis, Thrombosis และ Vascular Biology เมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยอาศัยเวชระเบียนจากคนไข้ประมาณ 1ใน 4 ของคน 1 ล้านคนที่ลงทะเบียนในฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เรียกว่า UK Biobank พบว่า คนไข้ที่มีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวกในช่วงปี 2020 มีความเสี่ยงที่จะมีอาการหัวใจวาย หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือเสียชีวิตได้มากกว่าคนที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงเวลานั้นถึง 2 เท่า

โดยข้อมูลชี้ว่ามีคนไข้ที่มีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวกในช่วงปี 2020 จำนวนกว่า 11,000 คน ในจำนวนนี้มีคนไข้เกือบ 3,000 คนที่ต้องนอนโรงพยาบาล โดยนักวิจัยได้เปรียบเทียบคนกลุ่มนี้กับประชาชนกว่า 222,000 คนในฐานข้อมูลเดียวกันที่ไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงเวลาดังกล่าวเลย

...

ซึ่งได้ผลสรุปออกมาว่าในช่วงระยะ 3 ปีหลังการติดเชื้อ คนไข้ที่ติดโควิดในช่วงปี 2020 มีความเสี่ยงที่จะมีอาการหัวใจวาย หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือเสียชีวิตได้มากกว่าคนที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงเวลานั้นถึง 2 เท่า นอกจากนี้ในคนป่วยที่ต้องแอดมิทเข้าโรงพยาบาลและมีอาการป่วยรุนแรง ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจมากขึ้นตามไปด้วย หรือคิดเป็นมากกว่า 3 เท่าของผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่ได้เข้าโรงพยาบาล โดยดูเหมือนว่าโรคโควิดจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับหัวใจ พอๆ กับโรคเบาหวานหรือโรคหลอดเลือดส่วนปลายหรือ PAD อีกด้วย

ก่อนหน้านี้ผลจากการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งชี้ว่า มีชาวอเมริกันมากถึงกว่า 3.5 ล้านคนที่ต้องเข้ารับการรักษาอาการโควิดในโรงพยาบาลในระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2020 และเมษายนปี 2021

การค้นพบที่ไม่เหมือนใครของ Covid-19

การศึกษาพบว่าความเสี่ยงต่อโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้นจากการติดเชื้อไม่ได้ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
โดยดร. สแตนลีย์ ฮาเซน ผู้เขียนงานวิจัย และเป็นประธานภาควิชา หัวใจและหลอดเลือดและวิทยาศาสตร์การเผาผลาญในร่างกายแห่ง คลิฟแลนด์ คลินิก กล่าวว่า "ไม่มีสัญญาณที่จะลดความเสี่ยงดังกล่าว" ซึ่งนั่นเป็นหนึ่งในการค้นพบที่น่าสนใจและน่าประหลาดใจ

ขณะที่ดร.แพทริเซีย เบสต์ แพทย์ทางด้านโรคหัวใจจาก มาโยคลินิก ในเมืองโรเชสเตอร์ รัฐมินนิโซตา ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยกล่าวว่าการค้นพบนี้น่าทึ่งและดูเหมือนจะเป็นความแตกต่างที่ไม่เหมือนใครของโรคโควิด-19 เพราะบางครั้งการติดเชื้อบางอย่างอาจจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจได้บ้าง เช่น  การเป็นไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งโรคติดเชื้อทั้งแบคทีเรียหรือไวรัส ที่อาจจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจได้ทั้งสิ้น แต่เมื่อหายป่วยจากโรคนั้นแล้ว ภาวะเสี่ยงนั้นก็จะหายไปด้วย ดังนั้นโรคโควิดอาจจะส่งผลกระทบหนักหนากว่าที่คิดไว้ โดยแม้แต่ทีมนักวิจัยที่เผยงานวิจัยเรื่องนี้ก็ยังไม่มีคำตอบว่าทำไมโควิดถึงมีผลกระทบระยะยาวต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดเช่นนี้

ผลวิจัยก่อนหน้านี้พบว่าเชื้อโควิดสามารถติดเชื้อในเซลล์ที่เรียงตามผนังหลอดเลือด นอกจากนี้ ยังพบไวรัสในแผ่นโลหะเหนียวซึ่งก่อตัวในหลอดเลือดแดง ซึ่งสามารถแตกออก และทำให้หัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองได้

ดร. ฮูมาน อัลลายี ศาสตราจารย์ด้านชีวเคมีและอณูพันธุศาสตร์ที่ศูนย์การแพทย์ Keck School แห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียระบุว่า อาจมีบางสิ่งที่โควิดไปทำกับผนังหลอดเลือดแดงและระบบหลอดเลือดจนทำให้อวัยวะดังกล่าวได้รับความเสียหายถาวรและยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดเวลา

อัลลายีกล่าวว่า โควิดอาจทำให้การสะสมของไขมันในหลอดเลือดภายในผนังหลอดเลือดไม่เสถียร และอาจทำให้มีแนวโน้มที่จะแตกออกและก่อให้เกิดลิ่มเลือดได้ง่ายขึ้น

ปัจจัยป้องกันบางประการ

อัลลายีรวมทั้ง เจมส์ ฮิลเซอร์ นักศึกษาของเขา กำลังเร่งศึกษาอย่างละเอียดว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบระยะยาวอย่างไรต่อร่างกายได้บ้าง โดยดูว่าคนที่มีปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมต่อโรคหัวใจหรือการเปลี่ยนแปลงของยีนที่เชื่อมโยงกับความอ่อนแอต่อการติดเชื้อโควิดอย่างไร เพื่อดูว่าคนกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนกลุ่มอื่นหรือไม่ แต่ก็ยังไม่พบความแตกต่าง

แต่สิ่งที่นักวิจัยพบคือ กรุ๊ปเลือดมีผลกับความแตกต่างนั้น โดยผู้ที่มีกรุ๊ปเลือด เอ บี หรือเอบีจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่ากรุ๊ปเลือด โอ และกรุ๊ปเลือดก็ยังมีส่วนที่จะทำให้คนติดเชื้อโควิดง่ายหรือยากด้วย โดยคนที่มีเลือดกรุ๊ป โอ ดูจะมีโอกาสติดเชื้อได้ยากกว่าด้วย

สอดคล้องกับงานวิจัยชิ้นล่าสุดนี้ที่มีการพูดถึงกรุ๊ปเลือดด้วย โดยพบว่าคนที่มีเลือดกรุ๊ปโอ ที่ติดโควิดและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลไม่ค่อยมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเท่ากับ กรุ๊ปเลือด เอ บี หรือเอบี แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าพวกเขาจะรอดจากความเสี่ยงนี้ แต่นักวิจัยก็ยังอยู่ระหว่างการหาข้อมูลที่ชี้ชัดต่อไป เพื่อหาวิธีในการลดความเสี่ยง เนื่องจากปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดยังคงเป็นสาเหตุให้ประชากรโลกเสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับ 1 ดังนั้นเมื่อพบผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดรายใหม่แพทย์อาจจะต้องถามถึงประวัติอาการป่วยโควิด-19 ของพวกเขาด้วย เพื่อให้ความสนใจเป็นพิเศษ และหาการรักษาที่เป็นไปได้ในการลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจวาย โดยเฉพาะการควบคุมความดันเลือด โคเลสเตอรอล และอาจจะต้องกินแอสไพรินช่วย

...

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ศึกษาเรื่องผลกระทบของการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ว่าเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยหรือไม่ รวมทั้งไม่ได้เจาะลึกไปถึงว่า การติดเชื้อโควิดซ้ำๆหลายรอบจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพหรือไม่ โดยทีมวิจัยระบุเพียงว่า ใครก็ตามที่เคยต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะโรคโควิด ไม่ว่าจะได้รับวัคซีนหรือไม่ ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษและระมัดระวังความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจเอาไว้ด้วย.

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล

ที่มา : CNN , Keck school

คลิกอ่านข่าว รายงานพิเศษ