• คณะกรรมการรางวัลโนเบลในประเทศสวีเดน ประกาศให้ "นิฮอน ฮิดันเคียว” (Nihon Hidankyo) สมาพันธ์ผู้ประสบภัยจากระเบิดปรมาณูและอาวุธเทอร์โมนิวเคลียร์ญี่ปุ่น เป็นผู้คว้ารางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี 2024 ไปครอง หลังจากทางองค์กรได้เคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อกำจัดอาวุธนิวเคลียร์มานานกว่า 75 ปี โดยมองว่าภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์กำลังเป็นประเด็นที่อันตรายร้ายแรงและเร่งด่วนในขณะนี้
  • อย่างไรก็ตาม การประกาศรางวัลโนเบลปีนี้ มีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์สู้รบที่กำลังดุเดือดในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นสงครามอิสราเอล-ฮามาส อิสราเอล-ฮิซบอลเลาะห์ และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงบานปลาย คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วหลายพันคน และมีผู้อพยพพลัดถิ่นหฃายหมื่นคน ทำให้หลายฝ่ายเกิดความสงสัยว่า เหตุใดคณะกรรมการโนเบล ไม่มอบรางวัลให้แก่องค์กรด้านมนุษยธรรมที่ทำงานอย่างหนักอยู่ในฉนวนกาซา อิสราเอล หรือในยูเครนแทน

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการรางวัลโนเบลในประเทศสวีเดน ประกาศให้ สมาพันธ์ผู้ประสบภัยจากระเบิดปรมาณูและอาวุธเทอร์โมนิวเคลียร์ญี่ปุ่น "นิฮอน ฮิดันเคียว" (Nihon Hidankyo)  เป็นผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2024 ไปครอง

นายเยอร์เกน วัตเนอ ฟรีดเนส ประธานคณะกรรมการโนเบลกล่าวว่า รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพถูกมอบให้แก่ นิฮอน ฮิดันเคียว จากความพยายามของพวกเขาในการทำให้โลกปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และจากการแสดงให้เห็นผ่านคำบอกเล่าของผู้รอดชีวิต ว่าอาวุธนิวเคลียร์จะต้องไม่ถูกนำมาใช้อีก นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า พวกเขาต้องการให้เกียรติผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูจากฮิโรชิมะกับนางาซากิทุกคน ผู้ที่แม้จะได้รับความทุกทรมานทางกาย และมีความทรงจำที่เจ็บปวด แต่ยังเลือกใช้ประสบการณ์เหล่านั้น ในการบ่มเพาะความหวังและการต่อสู้เพื่อสันติภาพ

...

นายฟรีดเนสยังกล่าวเตือนว่า ในแวดวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นมีบรรทัดฐานสากลที่ถือร่วมกันว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งต้องห้าม (nuclear taboo) แต่ปัจจุบันตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก เพราะมีแนวโน้มว่าหลายประเทศต้องการจะละเมิดบรรทัดฐานสากล พร้อมระบุว่าการที่รัสเซียคุกคามยูเครน ทำให้ภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ก็เป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติเช่นกัน และหากข้อห้ามด้านนิวเคลียร์ลดลง อาจนำไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์อีกครั้งในที่สุด ในขณะที่ ปีหน้าจะครบรอบ 80 ปีนับตั้งแต่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ

นายฟรีดเนสเรียกร้องให้ผู้นำโลกรับฟังเรื่องราวความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานของฮิบากูชะ และเสริมว่า "ไม่ควรมีมนุษย์คนใดต้องประสบกับสิ่งที่พวกเขาเคยเจอประสบการณ์จากอาวุธนิวเคลียร์"

นายโทโมยูกิ มิมากิ ประธานร่วมขององค์กรนิฮอน ฮิดันเคียว กล่าวว่า เขากำลังยืนอยู่ที่ศาลาว่าการเมืองฮิโรชิมะ ตอนที่เขาได้รับข่าวดีเรื่องการได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งทำให้เขาดีใจจนถึงกับตะโกนออกมาว่า "เป็นความจริงหรือ" และ "ไม่อยากจะเชื่อเลย!” ก่อนที่เขาจะกล่าวทั้งน้ำตาว่า "ผมไม่เคยนึกฝันมาก่อนเลยว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้" เขาบอกว่า การได้รับรางวัลนี้จะเป็นการส่งเสริมพยายามของพวกเขา ที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า การกำจัดอาวุธนิวเคลียร์นั้นเป็นไปได้

ความเป็นมาของ "นิฮอน ฮิดันเคียว"

นิฮอน ฮิดันเคียว ก่อตั้งขึ้นในปี 2499 หรือไม่ถึง 10 ปี หลังจากสหรัฐฯทิ้งระเบิดนิวเคลียร์โจมตีเมืองฮิโรชิมะและนางาซากิ ซึ่งเครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐฯได้ปล่อยระเบิดปรมาณูที่ทำจากยูเรเนียมลงเหนือเมืองฮิโรชิมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 140,000 ศพ สามวันต่อมาระเบิดปรมาณูอีกลูกถูกทิ้งลงที่เมืองนางาซากิ ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วถึง 210,000 ศพ จนจักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงต้องประกาศยอมจำนน ซึ่งเป็นเหตุให้สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง

...

โดยนิฮอน ฮิดันเคียว ได้ส่งผู้รอดชีวิตจากการโจมตีด้วยระเบิดนิวเคลียร์ หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า "ฮิบะคุฉะ" (hibakusha) เดินทางไปที่ต่างๆ ทั่วโลก เพื่อบอกเล่าเหตุการณ์จากปากของผู้เห็นเหตุการณ์จริง ความโหดร้าย ความเสียหายและความเจ็บปวดจากการตกเป็นเหยื่อระเบิดนิวเคลียร์

ที่ผ่านมาองค์กรนี้เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ มาหลายครั้งแล้ว รวมถึงในปี 2548 ซึ่งพวกเขาได้รับการกล่าวถึงเป็นพิเศษ จากคณะกรรมการโนเบล 

เบื้องหลังการตัดสินใจมอบรางวัล
ในช่วงเตรียมการขั้นสุดท้ายก่อนการประกาศรางวัล ผู้เฝ้าติดตามรางวัลโนเบลต่างพยายามคาดเดาผู้ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ โดยมีหลายกลุ่มที่เป็นตัวเต็ง ทั้งเรื่องสงครามในยูเครน และตะวันออกกลาง ความอดอยากในซูดาน และสภาพอากาศที่เลวร้าย ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อสันติภาพของโลกทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม มีผู้ผ่านเข้ารอบทั้งสิ้น 286 ราย ซึ่งเป็นบุคคล 197 ราย และองค์กร 89 แห่ง อยู่ในรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อในปีนี้

คณะกรรมการโนเบล สามารถปกปิดชื่อผู้สมัครไว้เป็นความลับเป็นเวลา 50 ปี แต่ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับอนุญาตให้เปิดเผยว่าใครเป็นผู้เสนอชื่อ

...

ก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่ารางวัลนี้จะถูกมอบให้กับสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (The United Nations Relief and Works Agency for Palestine Refugees in the Near East) หรือ UNRWA ซึ่งมีภารกิจในการจัดตั้งโรงเรียน ให้บริการทางสังคม ศูนย์ดูแลสุขภาพ และศูนย์กระจายอาหารให้กับผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาราว 5.9 ล้านคน เนื่องจากความขัดแย้งอันเลวร้ายระหว่างอิสราเอลและฮามาส ซึ่งเกิดจากการโจมตีของกลุ่มฮามาสบนแผ่นดินอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ปีที่แล้ว มีความเสี่ยงที่จะผลักดันให้ตะวันออกกลางทั้งหมดเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม การยกย่องผลงานของ UNRWA ด้วยการมอบรางวัลโนเบลสันติภาพให้ อาจทำให้ทางการอิสราเอลประท้วงอย่างแน่นอน เนื่องจากอิสราเอลกล่าวหาว่ามีสมาชิกอย่างน้อย 9 คนขององค์กรนี้สมคบคิดกับฮามาส 


ที่ผ่านมาอิสราเอลวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักต่อ UNRWA ซึ่งเมื่อเดือนสิงหาคมได้ไล่เจ้าหน้าที่ 9 คนออก เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ปีที่แล้ว ขณะที่ผู้บริจาคจากชาติตะวันตกหลายรายระงับความช่วยเหลือ หลังอิสราเอลอ้างว่าเจ้าหน้าที่ของ UNRWA มีส่วนเกี่ยวข้องกับฮามาส

...

ขณะเดียวกันศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งในเดือนมกราคม ที่ผ่านมา มีคำสั่งให้อิสราเอลดำเนินการเพื่อป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในฉนวนกาซา เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่จัดให้อยู่ในรายชื่อผู้มีสิทธิ์ได้รับรางวัล โดยคำสั่งชั่วคราวเกิดขึ้นในคดีที่แอฟริกาใต้ร่วมกับรัฐบาลอื่นๆ กล่าวหาว่าอิสราเอลกำลังก่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกาซา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเกือบ 42,000 ศพ นับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น 

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ 1ใน 4 ถูกมอบให้กับบุคคล หรือองค์กรจากตะวันออกกลางหรือมีความเกี่ยวข้อกับประเด็นในตะวันออกกลาง อย่างเมื่อปีที่แล้ว นาร์เกส โมฮัมมาดี นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวอิหร่านที่ถูกคุมขังก็ได้รับรางวัลนี้

นายเออร์ดัล จาก Oslo Peace Institute กล่าวว่า ตะวันออกกลางเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงและเสริมว่าการแก้ไขความขัดแย้งและสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นสำคัญของรางวัลโนเบลสันติภาพ แม้การประกาศรางวัลในปีนี้ จะมีขึ้นในขณะที่ตะวันออกกลางกำลังเข้าใกล้สงครามระดับภูมิภาคอย่างอันตราย เนื่องจากอิสราเอลได้เพิ่มกำลังโจมตีกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน และคาดว่าจะตอบโต้การโจมตีด้วยขีปนาวุธของอิหร่าน

เออร์ดัลกล่าวว่ารางวัลนี้เป็นการยอมรับความพยายามในการสร้างสันติภาพ ซึ่งไม่อาจขยายไปถึงการสร้างสันติภาพได้และมันไม่ใช่ยาครอบจักรวาล การจะบอกว่ารางวัลนี้มีความสำคัญมากจนสามารถบังคับให้เกิดสันติภาพในประเทศและประชาชนได้ก็คงจะเกินจริงไป.