เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สุดประหลาด เมื่อเกิดน้ำท่วมในบริเวณทะเลทรายซาฮารา ทางตอนใต้ของประเทศโมร็อกโก
เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สุดประหลาด เมื่อพายุฝนฟ้าคะนองทำให้เกิดฝนตกมากกว่าปกติในรอบหลายทศวรรษ ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ก่อให้เกิดภาพอันน่าทึ่งของน้ำที่ไหลทะลักผ่านผืนทรายของทะเลทรายซาฮารา ท่ามกลางเนินทรายและพืชพรรณในทะเลทราย ทางตอนใต้ของประเทศโมร็อกโก ทำให้พื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมักเกิดภัยแล้งบ่อยครั้ง มีโฉมหน้าที่ต่างออกไปจากเดิม
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า พื้นท่ีทางตอนใต้ของโมร็อกโกมักไม่ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกในพื้นที่ที่เรียกว่า "เขตบรรจบระหว่างเขตร้อน" ซึ่งมักส่งผลกระทบต่อเขตทะเลทรายซาฮาราในประเทศมาลีและมอริเตเนีย แต่ปีนี้ ฝนได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทะเลทรายซาฮาราของโมร็อกโก ทำให้พื้นที่ทะเลทรายแห่งนี้เต็มไปด้วยน้ำท่วม
รัฐบาลโมร็อกโกเปิดเผยว่าปริมาณน้ำฝน 2 วันในเดือนกันยายน เกินค่าเฉลี่ยรายปีในหลายพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่ำกว่า 250 มิลลิเมตร ต่อปี ซึ่งรวมถึงเมืองตาตา ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ในหมู่บ้านตากูไนต์ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงราบัตไปทางใต้ประมาณ 450 กิโลเมตร พบปริมาณน้ำฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตร ในรอบ 24 ชั่วโมง
นายฮุสซีน ยูอาเบบ จากกรมอุตุนิยมวิทยาของโมร็อกโก กล่าวว่า ไม่เคยเกิดฝนตกมากขนาดนี้ในช่วงเวลาสั้นๆ มาเป็นเวลาอย่างน้อย 30 ปี เขากล่าวว่าฝนที่ตกหนักดังกล่าว เรียกว่าพายุนอกเขตร้อน โดยดาวเทียมของนาซา ตรวจพบน้ำในทะเลสาบอิริกุย ซึ่งแห้งแล้งมานานกว่า 50 ปีแล้ว แต่เขากล่าวว่าการพบน้ำในทะเลทรายซาฮารา อาจเปลี่ยนแปลงพยากรณ์อากาศในอนาคตได้อย่างมาก อาจทำให้สภาพอากาศในภูมิภาคนี้เปลี่ยนแปลงไปในอีกไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องจากอากาศมีความชื้นมากขึ้น ทำให้เกิดการระเหยมากขึ้นและอาจทำให้เกิดพายุมากขึ้น
...
ทั้งนี้ ภัยแล้งต่อเนื่อง 6 ปีติดต่อกัน สร้างความท้าทายให้กับโมร็อกโกในหลายพื้นที่ ทำให้เกษตรกรต้องปล่อยให้พื้นที่เกษตรกรรมให้เป็นที่รกร้าง ขณะที่เมืองและหมู่บ้านหลายแห่งต้องใช้น้ำอย่างประหยัด.
ที่มา AP
อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign