- เศรษฐกิจของจีนที่ตกต่ำทำให้ผู้นำประเทศต้องใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนคือ การที่เศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลกระทบต่อชาวจีนทั่วไปอย่างไร ขณะที่ความคาดหวังและความไม่พอใจของพวกเขามักถูกเซ็นเซอร์อย่างหนัก
- ผลการศึกษาล่าสุดชี้ว่า ชาวจีนในปัจจุบัน มีแนวโน้มความรู้สึกในเชิงลบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับหลายปีก่อน เช่นสัดส่วนของผู้ที่รู้สึกมองโลกในแง่ร้ายเกี่ยวกับอนาคต เพิ่มขึ้นจากเพียง 2.3% ในปี 2004 เป็น 16% ในปี 2023
- ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ยังคงหลอกหลอนชาวจีนจำนวนมาก เนื่องจากการตอบสนองที่เข้มงวดแต่ไม่แน่นอนของรัฐบาลระหว่างการระบาดใหญ่ ทำให้ผู้คนรู้สึกไม่มั่นคงเกี่ยวกับอนาคตมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่ถูกละเลย เช่น ผู้หญิงที่ติดอยู่ในตลาดแรงงานที่มีการเลือกปฏิบัติอย่างรุนแรง และผู้อยู่อาศัยในชนบทสวัสดิการรัฐไม่ครอบคลุมมาเป็นเวลานาน
เศรษฐกิจของจีนที่ตกต่ำทำให้ผู้นำประเทศต้องใช้ความพยายามอย่างเต็มที่
จีนได้เปิดเผยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในรูปของการแจกเงินสดเป็นบางครั้ง จัดการหารือแบบไม่แจ้งล่วงหน้าเพื่อกระตุ้นการเติบโต และพยายามปลุกตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังย่ำแย่ด้วยนโยบายต่างๆ มากมาย ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สี จิ้นผิงได้พูดถึง "อันตรายที่อาจเกิดขึ้น" และ "การเตรียมตัวที่ดี" ที่จะเอาชนะความท้าทาย ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นการอ้างถึงเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนคือ การที่เศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลกระทบต่อคนจีนทั่วไปอย่างไร ซึ่งความคาดหวังและความไม่พอใจของพวกเขามักถูกเซ็นเซอร์อย่างหนัก
แต่มีงานวิจัยใหม่ 2 ชิ้นที่ให้ข้อมูลเชิงลึกบางส่วน ชิ้นแรกเป็นการสำรวจทัศนคติของคนจีนที่มีต่อเศรษฐกิจ พบว่าผู้คนเริ่มมองโลกในแง่ร้ายและผิดหวังกับอนาคตของตน ส่วนชิ้นที่สองเป็นบันทึกการประท้วงทั้งแบบปกติและออนไลน์ ซึ่งสังเกตเห็นว่ามีเหตุการณ์เพิ่มขึ้นที่เกิดจากความไม่พอใจทางเศรษฐกิจ แม้จะยังไม่สมบูรณ์มากนัก แต่ภาพรวมก็ชี้ให้เห็นภาพเล็กๆ น้อยๆ ของสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และความรู้สึกของชาวจีนเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขา
...
นอกเหนือจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์แล้ว หนี้สาธารณะที่สูงลิ่วและอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ยังส่งผลกระทบต่อการออมและการใช้จ่ายของชาวจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ซึ่งอาจพลาดเป้าหมายการเติบโตของที่ 5% ในปีนี้ ที่อาจทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่สบายใจนัก เพราะการเติบโตอย่างก้าวกระโดดทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจระดับโลก
จากแนวโน้มดีกลายเป็นลบ
การชะลอตัวเกิดขึ้นในช่วงที่การระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการล็อกดาวน์อย่างกะทันหันและเข้มงวดเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ขณะที่ความแตกต่างระหว่างช่วงก่อนและหลังการระบาด สามารถเห็นได้ชัดจากงานวิจัยของศาสตราจารย์ชาวอเมริกัน มาร์ติน ไวท์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสก็อตต์ โรเซลล์ จากศูนย์เศรษฐกิจจีน มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
พวกเขาทำการสำรวจในปี 2004 และ 2009 ก่อนที่สีจิ้นผิงจะขึ้นเป็นผู้นำของจีน และในช่วงที่สีจิ้นผิงครองอำนาจในปี 2014 และ 2023 ขนาดของกลุ่มตัวอย่างแตกต่างกันไป โดยอยู่ระหว่าง 3,000 ถึง 7,500 คน
ในปี 2004 ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 60% ระบุว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของครอบครัวดีขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และหลายคนก็รู้สึกมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับอีก 5 ปีข้างหน้าเช่นกัน โดยตัวเลขเพิ่มขึ้นในปี 2009 และ 2014 ที่ 72.4% และ 76.5% ตามลำดับ ที่ระบุว่าสถานการณ์ดีขึ้น ในขณะที่ 68.8% และ 73% มีความหวังเกี่ยวกับอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในปี 2023 มีเพียง 38.8% เท่านั้นที่รู้สึกว่าชีวิตของครอบครัวดีขึ้น และน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 47% เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกัน สัดส่วนของผู้ที่รู้สึกมองโลกในแง่ร้ายเกี่ยวกับอนาคตก็เพิ่มขึ้นจากเพียง 2.3% ในปี 2004 เป็น 16% ในปี 2023
แม้ว่าการสำรวจจะมาจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนระดับชาติที่มีอายุระหว่าง 20 ถึง 60 ปี แต่การเข้าถึงความคิดเห็นที่หลากหลายถือเป็นความท้าทายในประเทศจีน
ผู้ตอบแบบสอบถามมาจาก 29 มณฑลและเขตปกครองของจีน แต่ไม่รวมซินเจียงและบางส่วนของทิเบต นายไวท์กล่าวว่าเป็น "ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เกิดจากสถานที่ห่างไกลและความอ่อนไหวทางการเมือง" พื้นที่ที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดเหล่านี้ทางตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นที่อยู่ของชนกลุ่มน้อยนั้นเคยอยู่ภายใต้การปกครองของจีนมาเป็นเวลานาน
นักวิจัยกล่าวว่า ผู้ที่ไม่เต็มใจที่จะแสดงความคิดเห็นไม่ได้เข้าร่วมการสำรวจนี้ ส่วนผู้ที่แสดงความคิดเห็นก็แบ่งปันความคิดเห็นของตนเมื่อได้รับแจ้งว่าเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางวิชาการ และจะยังคงรักษาความลับเอาไว้
ความวิตกกังวลของพวกเขาสะท้อนให้เห็นในทางเลือกที่คนหนุ่มสาวชาวจีนจำนวนมากเลือก จากการที่อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายล้านคนจำเป็นต้องทำงานที่มีค่าจ้างต่ำ ในขณะที่บางคนมีทัศนคติแบบ "นอนราบ" หรือ "ถังผิง" ซึ่งเป็นศัพท์แสลงของจีนที่อธิบายถึงการปฏิเสธตนเองต่อแรงกดดันทางสังคมในการทำงานหนักเกินไปและประสบความสำเร็จเกินควร ในขณะที่บางคนเลือกที่จะเป็น "ลูกเต็มเวลา" กลับบ้านไปหาพ่อแม่เพราะหาที่ทำงานไม่ได้หรือหมดไฟ
นักวิเคราะห์เชื่อว่าการจัดการโควิด-19 แบบเข้มงวดของจีนมีส่วนสำคัญในการทำให้ความหวังของผู้คนลดน้อยลง
อัลเฟรด วู รองศาสตราจารย์จากวิทยาลัยนนโยบายสาธารณะลีกวนยู ในสิงคโปร์กล่าวว่า "นั่นเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับหลายๆ คน มันเตือนให้ทุกคนรู้ว่ารัฐมีความเผด็จการแค่ไหน ประชาชนรู้สึกเหมือนถูกควบคุมมากกว่าที่เคย" เขากล่าวเสริมว่า หลายคนรู้สึกหดหู่ และการลดเงินเดือนที่ตามมา "ยิ่งทำให้ความมั่นใจลดน้อยลง"
...
การทำงานหนักคุ้มค่าหรือไม่? ชาวจีนในปัจจุบันกล่าวว่า "ไม่"
อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจพบว่าการทำงานดูเหมือนจะไม่ใช่สัญญาณของอนาคตที่สดใสอีกต่อไป ในปี 2004 2009 และ 2014 ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 6 ใน 10 คนเห็นด้วยว่า "ความพยายามจะได้รับผลตอบแทนเสมอ" ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีอยู่ประมาณ 15%
เมื่อถึงปี 2023 ความรู้สึกดังกล่าวก็เปลี่ยนไป มีเพียง 28.3% เท่านั้นที่เชื่อว่าการทำงานหนักของตนจะได้รับผลตอบแทน ในขณะที่หนึ่งในสามของพวกเขาไม่เห็นด้วย ความไม่เห็นด้วยมีมากที่สุดในครอบครัวที่มีรายได้น้อย ซึ่งมีรายได้น้อยกว่า 50,000 หยวนต่อปี
ชาวจีนมักถูกบอกว่า หลายปีที่ใช้ไปกับการเรียนและไล่ตามใบปริญญาจะได้รับผลตอบแทนเป็นความสำเร็จทางการเงิน ส่วนหนึ่งของความคาดหวังนี้ได้รับการหล่อหลอมจากประวัติศาสตร์ที่วุ่นวาย ซึ่งผู้คนต้องกัดฟันอดทนกับความเจ็บปวดจากสงครามและความอดอยาก และเดินหน้าต่อไป
ผู้นำจีนก็ยกย่องคุณธรรมในการทำงานดังกล่าวเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ความฝันแบบจีนของสี จิ้นผิง สะท้อนถึงความฝันแบบอเมริกัน ซึ่งการทำงานหนักและพรสวรรค์ได้รับผลตอบแทน เขากระตุ้นให้คนหนุ่มสาว "กินความขมขื่น" ซึ่งเป็นวลีภาษาจีนที่ใช้เรียกการอดทนต่อความยากลำบาก
...
แต่ในปี 2023 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ในผลการศึกษาของ มาร์ติน ไวท์ และสก็อตต์ โรเซลล์ เชื่อว่าผู้คนร่ำรวยเพราะสิทธิพิเศษที่ครอบครัวและเครือญาติของพวกเขามอบให้ หนึ่งทศวรรษก่อนหน้านี้ ผู้ตอบแบบสอบถามได้ระบุถึงความร่ำรวยจากความสามารถ พรสวรรค์ การศึกษาที่ดี และการทำงานหนัก
ทั้งนี้ แม้ว่านโยบาย "ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน" อันเป็นเอกลักษณ์ของสี จิ้นผิงจะมุ่งลดช่องว่างความมั่งคั่ง แต่บรรดาผู้วิจารณ์กล่าวว่านโยบายดังกล่าวส่งผลให้มีการปราบปรามธุรกิจเท่านั้น
ตามรายงานของ China Dissent Monitor (CDM) ยังมีตัวบ่งชี้ความไม่พอใจอื่นๆ เช่น การประท้วงที่เพิ่มขึ้น 18% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2024 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
การศึกษานี้กำหนดให้การประท้วงเป็นเหตุการณ์ใดๆ ที่ผู้คนแสดงความไม่พอใจหรือส่งเสริมผลประโยชน์ของตนในลักษณะที่ขัดแย้งกับอำนาจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จริงหรือทางออนไลน์ เหตุการณ์ดังกล่าวแม้จะเล็กน้อย แต่ก็ยังคงส่งผลกระทบในประเทศจีน ซึ่งแม้แต่ผู้ประท้วงเพียงคนเดียวก็ยังถูกติดตามและควบคุมตัวได้อย่างรวดเร็ว
เควิน สเลเทน หนึ่งในผู้จัดทำรายงานของ CDM กล่าวว่า อย่างน้อย 3 ใน 4 กรณีเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจ โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2022 กลุ่มได้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไปแล้วเกือบ 6,400 เหตุการณ์
พวกเขาพบว่าการประท้วงที่นำโดยชาวชนบทและคนงานทั่วไป มีกเกี่ยวกับการแย่งชิงที่ดินและค่าจ้างต่ำ และยังพบชนชั้นกลางที่รวมตัวประท้วงเพราะวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ โดยการประท้วงโดยเจ้าของบ้านและคนงานก่อสร้างคิดเป็น 44% ของกรณีทั้งหมดในกว่า 370 เมือง แต่นายสเลเทนเน้นย้ำว่า "สิ่งนี้ไม่ได้หมายความทันทีว่าเศรษฐกิจของจีนกำลังพังทลาย"
...
พรรคคอมมิวนิสต์กังวลแค่ไหน?
ผู้นำจีนมีความกังวลอย่างแน่นอน
ระหว่างเดือนสิงหาคม 2023 ถึงเดือนมกราคม 2024 รัฐบาลจีนหยุดเปิดเผยตัวเลขการว่างงานของเยาวชนหลังจากที่ตัวเลขดังกล่าวพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ในครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ได้บัญญัติคำว่า "การจ้างงานช้า" ขึ้นเพื่ออธิบายถึงผู้ที่ใช้เวลาในการหางาน ซึ่งพวกเขากล่าวว่าเป็นหมวดหมู่ที่แยกจากคนว่างงาน
เจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์ได้ดำเนินการปราบปรามแหล่งที่มาของความขัดข้องทางการเงินทุกแหล่ง โดยโพสต์ที่แสดงความคิดเห็นจะถูกลบออกอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผู้มีอิทธิพลจะถูกบล็อกบนโซเชียลมีเดีย เนื่องจากอวดรสนิยมหรูหรา สื่อของรัฐระบุว่าการห้ามดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ "มีอารยธรรม มีสุขภาพดี และกลมกลืน" ขณะที่รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้เกิดเรื่องไม่คาดคิด เมื่อ จู เหิงเผิง นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ ถูกควบคุมตัวเนื่องจากวิจารณ์การบริหารเศรษฐกิจของสี จิ้นผิง
นายสเลเทนกล่าวว่า พรรคคอมมิวนิสต์พยายามควบคุมเรื่องราวโดยกำหนดว่าผู้คนเข้าถึงข้อมูลใด หรือรับรู้ว่าอะไรเป็นลบ
งานวิจัยของ CDM แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีการควบคุมของรัฐในระดับหนึ่ง ความไม่พอใจก็ยังคงจุดชนวนให้เกิดการประท้วง และนั่นจะทำให้รัฐบาลรู้สึกกังวล
ในเดือนพฤศจิกายน 2022 เกิดเหตุเพลิงไหม้ร้ายแรงซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากอาคารระหว่างการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันโควิด-19 ทำให้ผู้คนนับพันออกมาบนท้องถนนในส่วนต่างๆ ของจีนเพื่อประท้วงนโยบายปราบปรามโควิด-19
มาร์ติน ไวท์ และสก็อตต์ โรเซลล์ ไม่คิดว่าผลการค้นพบของพวกเขาบ่งชี้ว่า "ความโกรธของประชาชนเกี่ยวกับ ความไม่เท่าเทียมกันนั้นมีแนวโน้มที่จะระเบิดออกมาเป็นภูเขาไฟแห่งการประท้วงทางสังคม" ทั้งสองระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้เริ่ม "บ่อนทำลาย" ความชอบธรรมที่พรรคได้สร้างขึ้นผ่าน "การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนหลายทศวรรษและมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น"
หยุน โจว ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวว่าการระบาดของโควิด-19 ยังคงหลอกหลอนชาวจีนจำนวนมาก "การตอบสนองที่เข้มงวดแต่ไม่แน่นอน" ของรัฐบาลระหว่างการระบาดใหญ่ทำให้ผู้คนรู้สึกไม่มั่นคงเกี่ยวกับอนาคตมากขึ้น สิ่งนี้เห็นได้ชัดโดยเฉพาะในกลุ่มที่ถูกละเลย เช่น ผู้หญิงที่ติดอยู่ในตลาดแรงงานที่มีการเลือกปฏิบัติอย่างรุนแรง และผู้อยู่อาศัยในชนบทสวัสดิการรัฐไม่ครอบคลุมมาเป็นเวลานาน
ภายใต้ระบบ "หูโข่ว" ซึ่งคล้ายกับระบบทะเบียนราษฎร์ที่ใช้ควบคุมการเคลื่อนย้ายของประชากร ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 1958 แรงงานอพยพในเมืองไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้บริการสาธารณะ เช่น การส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐบาล
แต่คนหนุ่มสาวจากเมือง ต่างพากันอพยพไปยังเมืองห่างไกลซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว เนื่องจากค่าเช่าบ้านที่ถูก ทิวทัศน์ที่งดงาม และมีอิสระมากขึ้นในการไล่ตามความฝัน
เกี่ยวกับข้อมูล
การวิจัยของ มาร์ติน ไวท์ และสก็อตต์ โรเซลล์ อิงจากแบบสำรวจทางวิชาการ 4 ชุดที่ดำเนินการระหว่างปี 2004 ถึง 2023
แบบสำรวจแบบพบหน้ากัน ดำเนินการร่วมกับนักวิจัย จากศูนย์วิจัยจีนร่วมสมัย แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (RCCC) ในปี 2004 2009 และ 2014 ผู้เข้าร่วมมีอายุระหว่าง 18-70 ปีและมาจาก 29 มณฑล ไม่รวมทิเบตและซิงเจียง
ในปี 2023 ศูนย์สำรวจและวิจัยการเงินครัวเรือนของจีน (CHFS) แห่งมหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์ตะวันตกเฉียงใต้ ในเมืองเฉิงตู ดำเนินการสำรวจออนไลน์ 3 รอบในช่วงปลายไตรมาสที่ 2, 3 และ 4 ผู้เข้าร่วมมีอายุระหว่าง 20-60 ปี
แบบสำรวจทั้งหมดใช้คำถามเดียวกัน เพื่อให้คำตอบเปรียบเทียบกันได้ตลอด 4 ปี นักวิจัยได้แยกผู้เข้าร่วมที่มีอายุระหว่าง 18-19 ปี และ 61-70 ปี ออกจากกัน และปรับน้ำหนักคำตอบทั้งหมดเพื่อให้เป็นตัวแทนระดับประเทศ แบบสำรวจทั้งหมดมีค่าความคลาดเคลื่อน
การศึกษานี้ได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์โดยวารสาร เดอะ ไชน่า เจอร์นัล และคาดว่าจะเผยแพร่ในปี 2025
นักวิจัยของ China Dissent Monitor (CDM) ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ "เหตุการณ์การคัดค้าน" ทั่วประเทศจีนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2022 จากแหล่งที่ไม่ใช่ของรัฐบาลที่หลากหลาย รวมถึงรายงานข่าว แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ดำเนินการในประเทศ และองค์กรภาคประชาสังคม
เหตุการณ์การคัดค้าน หมายถึงกรณีที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใช้การแสดงออกถึงความไม่พอใจในที่สาธารณะและไม่เป็นทางการ เหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์นั้นมองเห็นได้ชัดเจน และยังอยู่ภายใต้หรือมีความเสี่ยงที่รัฐบาลจะตอบสนองผ่านการปราบปรามทางกายภาพหรือการเซ็นเซอร์ ซึ่งอาจรวมถึงการโพสต์บนโซเชียลมีเดียที่แพร่หลาย การประท้วง การแจกแบนเนอร์ และการประท้วง เป็นต้น เหตุการณ์หลายอย่างนั้นยากที่จะตรวจสอบโดยอิสระ.
ที่มา BBC
อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign