“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” คงเป็นถ้อยคำที่เหมาะสมที่สุดในเพลานี้ สำหรับ “อิชิบะ ชิเงรุ” อดีตรัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น วัย 67 ปี
หลังล้มลุกมาครั้งแล้วครั้งเล่า ในศึกชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคจิมินโต “เสรีประชาธิปไตย” (LDP) นับตั้งแต่ปี 2551 ชวดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้กับบรรดาตัวเต็ง “อาโซะ ทาโร” “อาเบะ ชินโซ” และ “โยชิฮิเดะ ซูกะ”
จนสุดท้ายก็มาถึงฝั่งฝันอย่างสมใจเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ในศึกเลือกตั้งพรรควันที่ 27 ก.ย. 2567 เนื่องด้วยนายกรัฐมนตรี “คิชิดะ ฟุมิโอะ” ไม่ขอไปต่อ ประกาศถอนตัวจากกระบวนการสรรหา และเตรียมเปิดทางให้ผู้นำพรรคคนใหม่ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนในวันที่ 1 ต.ค.
สามารถเอาชนะคู่แข่งที่สู้กันมาอย่างสูสี อย่าง “ทาคาอิจิ ซานาเอะ” รัฐมนตรีความมั่นคงเศรษฐกิจ วัย 63 ปี และ “โคอิซูมิ ชินจิโร” อดีตรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม วัย 43 ปี ทายาทของโคอิซูมิ จุนอิจิโร อดีตผู้นำญี่ปุ่น ผ่านการลงมติภายในพรรค 2 รอบ (รอบแรกเสียงไม่ถึงเกณฑ์ 50% ต้องวัดผลในการโหวตรอบสอง ตัวต่อตัวกับทาคาอิจิ)
ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมา แสดงถึงความสำเร็จของอิชิบะในการเดินเกมรวบรวมคะแนนจากบรรดา “ก๊กเหล่า” ภายในพรรคเสรีประชาธิปไตย ที่มีอย่างน้อย 4 ขั้วอิทธิพล ประกอบด้วยกลุ่มของนายกรัฐมนตรี คิชิดะ ฟุมิโอะ กลุ่มของอดีตนายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูกะ กลุ่มของอดีตนายกรัฐมนตรี อาโซะ ทาโร และกลุ่มของเลขาธิการใหญ่พรรค โมเตกิ โทชิมิตสุ ที่ต่างกุมคะแนนเสียง สส.ไว้ในมือ
ท่ามกลางเสียงซุบซิบในแวดวงการเมืองญี่ปุ่นว่า กลุ่มของอดีตผู้นำอาโซะ ทาโร เกลียดอิชิบะเข้าไส้ มีแนวโน้มว่าจะเทคะแนนให้ทาคาอิจิอย่างแน่นอนหากเกิดกรณีที่ต้องวัดผลกันตัวต่อตัว เช่นเดียวกับในช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้ง ทางสื่ออาซาฮีก็มีการเผยแพร่อินโฟกราฟิกทิศทางการเทคะแนน ที่บ่งชี้ว่ากลุ่มของอาโซะเอียงไปทางทาคาอิจิอย่างชัดเจน กลุ่มโมเตกิอยู่กลางๆ ขณะที่กลุ่มซูกะเอียงไปทางอิชิบะ
...
อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากเจแปนไทม์ส ที่ระบุด้วยว่า อิชิบะได้เข้า “เคลียร์ใจส่วนตัว” กับอาโซะแล้วในคืนวันที่ 26 ก.ย.ก่อนการเลือกตั้ง ทั้งยังประกาศจุดยืนว่า หากได้ขึ้นเป็นผู้นำจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามรอยรัฐบาลชุดเก่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นี้น่าจะส่งผลต่อการเทคะแนน ของกลุ่มอิทธิพลภายในพรรคแอลดีพีได้อย่างพอสมควร
สำหรับเรื่องราวของ “อิชิบะ ชิเงรุ” นั้น ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2500 เป็นบุตรชายของอิชิบะ จิโระ อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยญี่ปุ่นและผู้ว่าราชการจังหวัด “ทตโตริ” ถิ่นฐานบ้านเกิดทางภาคตะวันตกของญี่ปุ่น ในอดีตเคยทำงานกับธนาคารมิตสึอิ (ปัจจุบันคือธนาคารซุมิโมโต มิตสึอิ) ก่อนผันตัวเข้าสู่แวดวงการเมืองจากการถูกทาบทามโดยคนสนิทของบิดา “คาคุเอ ทานากะ” อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (2515-2517)
ผ่านศึกการเลือกตั้งท้องถิ่น จนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 12 ครั้ง และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลพรรคเสรีประชาธิปไตยมามากมาย ไม่ว่ารัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีเกษตร รัฐมนตรีป่าไม้และการประมง รัฐมนตรีฟื้นฟูเศรษฐกิจชนบท ไปจนถึงประธานสภาการวิจัยเชิงนโยบายของพรรค และเลขาธิการใหญ่พรรค แต่ในขณะเดียวกันก็มีเสียงอื้ออึงมาตลอดว่า ถึงอิชิบะจะได้รับความนิยมจากประชาชนโดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ชนบท แต่สำหรับคนในพรรคนั้นถือว่า “ไม่ปลื้ม” เนื่องจากชอบวิจารณ์บรรดาแกนนำและผู้มี อิทธิพลภายในพรรคอย่างตรงไปตรงมา
ในเรื่องของ “นโยบาย” ว่าที่นายกรัฐมนตรี อิชิบะ มีความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคง เขียนหนังสือด้านการทหารหลายเล่ม มีความต้องการที่จะสร้างกลไกความมั่นคงที่ครอบคลุมขึ้นมาในภูมิภาคเอเชีย จนทำให้ถูกมองว่าต้องการสร้างกลุ่มความมั่นคง ที่มีลักษณะเดียวกับ “องค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ-NATO” ขึ้นมาหรือไม่ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความคิดว่าญี่ปุ่นควรมีเอกภาพทางความมั่นคง เป็นอิสระจากสหรัฐฯมากขึ้น โดยเฉพาะการนำเสนอแผนการบริหารฐานทัพร่วมระหว่างกองทัพสหรัฐฯ-กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นในจังหวัด “โอกินาวะ” ทั้งยังแสดงความกังวลอย่างชัดเจนในเรื่องภัยคุกคามเกาหลีเหนือ และสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวัน
ส่วนภาคเศรษฐกิจและการเมือง อิชิบะมีความสนใจในเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจชนบท โดยเฉพาะจังหวัดที่ประสบปัญหาประชากรลดลงและคนทิ้งถิ่นฐานไปหางานทำในเมืองใหญ่ เสนอแผนการจ้างงานเพิ่มเติมในภาคป่าไม้ ประมง และงานบริการ มองทิศทางพลังงานสะอาดและสร้างสมดุลระหว่างการใช้พลังงานใหม่กับพลังงานนิวเคลียร์ พร้อมประกาศจุดยืนการปฏิรูปพรรคเสรีประชาธิปไตย จากกรณีเหตุอื้อฉาว “เงินสนับสนุนทางการเมือง”
แม้ข้อมูลที่กล่าวมาจะทำให้อิชิบะมีภาพลักษณ์เป็นคนซีเรียส แต่ในมุมชีวิตส่วนตัวถือว่ามีความ “ญี่ปุ่น” ในแบบที่คนต่างชาตินิยมชมชอบด้วยเช่นกัน มีงานอดิเรกชอบสะสม “โมเดล” ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโมเดลรถไฟ รถยนต์ เรือรบ เครื่องบินรบ มีเป็นคอลเลกชันต่อทาสีเองเสร็จสรรพ เป็นแฟนคลับวงไอดอลในอดีต มีความปลาบปลื้มในเมนู “แกงกะหรี่” และมีความดื่มด่ำกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างไวน์และ “สาเก”
ด้วยความน่าสนใจเหล่านี้ จึงทำให้ควรจับตาอย่างยิ่งว่า อิชิบะ ชิเงรุ หลังกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 102 ของญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการแล้ว จะนำพาประเทศญี่ปุ่นไปในทิศทางใด?
วีรพจน์ อินทรพันธ์
คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม