เมื่อคราวเยือน “เมืองเบงกาลูรู” เมืองศูนย์รวมเทคโนโลยี “ซิลิคอนวัลเลย์แห่งอินเดีย” หรือที่เคยถูกเรียกขานว่า “บังกาลอร์” ตั้งอยู่ในรัฐกรณาฏกะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ตามคำชักชวนของกระทรวงต่างประเทศอินเดีย และสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทยเมื่อเดือนก่อน

ทีมข่าว นสพ.ไทยรัฐมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับ MOSIP หรือ Modular Open Source Identity Platform “โอเพ่นซอร์สแพลตฟอร์มสำหรับช่วยให้รัฐบาลหรือองค์กรสามารถสร้างระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่มีความปลอดภัยสูง เชื่อถือได้ ครอบคลุม แม่นยำ มีความยืดหยุ่นในการปรับใช้ให้ตรงตามความ ต้องการ” ด้วยโครงสร้างพื้นฐานอัตลักษณ์ทางดิจิทัล และการเข้าถึงระบบนิเวศเทคโนโลยี

เป็นโครงการไม่มุ่งหวังกำไรภายใต้การบ่มเพาะของสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศนานาชาติ บังกาลอร์มีเป้าหมายมุ่งหวังให้การพัฒนาอัตลักษณ์ทางดิจิทัลเป็นเครื่องมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดปัญหา “ประชาชนไร้สิทธิ”

ปัญหาใหญ่ระดับโลกผลักดันให้องค์การสหประชาติวาดหวังให้ทุกคนมีอัตลักษณ์ทางกฎหมาย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมถึงการจดทะเบียนเกิดภายในปี 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะประชาชนจำนวนมาก

โดยเฉพาะ ในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง ยังประสบปัญหาไร้หลักฐานแสดงตัวตนทางกฎหมาย ทำให้การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตจึงอยู่ไกลเกินเอื้อม

ทั้งที่การมี “อัตลักษณ์ทางกฎหมาย” (Legal Identity) นับเป็นพื้นฐานของ “สิทธิมนุษยชน”ช่วยรับประกันการเข้าถึงสิทธิในการรับบริการพื้นฐานหรือสวัสดิการของรัฐ สิทธิในการอยู่อาศัย การศึกษา การเข้าถึงการรักษาพยาบาล การประกอบอาชีพ ไปจนถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง

...

ปัจจุบันมีการใช้งานแพลตฟอร์ม MOSIP รวม 25 ประเทศ ครอบคลุมประชาชนกว่า 188 ล้านคนทั่วแอฟริกา เอเชียแปซิฟิก และละตินอเมริกา โดยมีการเปิดตัวจัดทำระบบบัตรประชาชนทั่วประเทศอย่างเต็มรูปแบบในโมร็อกโก เอธิโอเปีย โตโก ยูกันดา รวมถึงฟิลิปปินส์เพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งมีประชากรกว่า 110 ล้านคนกระจัดกระจายอยู่ตามเกาะแก่งต่างๆหลายพันเกาะ ขณะที่แซมเบียและกัมพูชาเป็น 2 ชาติที่เปิดตัว eSignet ระบบสำหรับตรวจสอบสิทธิและการเข้าถึงบริการออนไลน์ของประชาชน.


อมรดา พงศ์อุทัย

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม