จีนเปิดการสอบสวนบริษัทเจ้าของแบรนด์แฟชั่นสัญชาติสหรัฐฯ อย่าง Tommy Hilfiger และ Calvin Klein ในข้อกล่าวหามีมาตรการเลือกปฏิบัติ ต่อบริษัทฝ้ายในซินเจียง

วันที่ 25 กันยายน 2567 สำนักข่าว BBC รายงานว่า จีนประกาศเริ่มกระบวนการสอบสวนกรณีที่บริษัท Phillips-Van Heusen Corporation หรือ PVH ที่เป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นสัญชาติสหรัฐฯ อย่าง Tommy Hilfiger และ Calvin Klein ที่มีมาตรการเลือกปฏิบัติต่อบริษัทฝ้ายในซินเจียง โดยไม่นำเข้าฝ้ายจากซินเจียง และกล่าวหาว่าบริษัทฝ้ายในซินเจียงบังคับใช้แรงงานกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์ โดยไม่มีหลักฐานและมูลความจริง

โดยการเคลื่อนไหวของจีนถือเป็นความพยายามครั้งใหม่ในการต่อสู้กับข้อกล่าวหาจากสหรัฐฯและนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนที่ว่า ฝ้ายและสินค้าอื่นๆที่ผลิตโดยบริษัทในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ มีการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์

ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯประกาศห้ามนำเข้าฝ้ายจากซินเจียง ในปี 2564 โดยอ้างถึงข้อกังวลเรื่องการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ แต่ไม่ได้มีการเปิดเผยหลักฐานแน่ชัดที่ทำให้เกิดความเชื่อแบบนั้น ทางด้านกระทรวงพาณิชย์ของจีน ออกมาตอบโต้บริษัทของผู้ผลิตสินค้าแฟชั่นของสหรัฐฯว่า ดำเนินการคว่ำบาตรฝ้ายซินเจียงและผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยไม่มีมูลความจริง

ทางด้าน PVH ที่มีส่วนแบ่งการตลาดในจีนมากพอๆกับสหรัฐฯระบุว่า ตามนโยบายของบริษัท PVH ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างเคร่งครัดในทุกประเทศและภูมิภาคที่ดำเนินธุรกิจ โดยตอนนี้กำลังติดต่อกับกระทรวงพาณิชย์ของจีนและจะตอบกลับตามข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามทางบริษัทมีเวลา 30 วันในการตอบกลับเจ้าหน้าที่จีน ไม่เช่นนั้นอาจถูกเพิ่มชื่อลงในบัญชี บริษัทที่ไม่น่าเชื่อถือ ของจีน ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะถูกลงโทษเพิ่มเติม

...

คัลเลน เฮนดริกซ์ นักวิจัยอาวุโสประจำสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน กล่าวว่า ไม่ชัดเจนว่าอะไรเป็นแรงผลักดันให้มีการสืบสวน PVH อีกครั้ง แต่เชื่อว่าอาจมีแนวโน้มที่จะทำให้ชื่อเสียงของบริษัทเสียหาย และเป็นการส่งคำเตือนในวงกว้างไปยังบริษัทระดับโลกเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการยอมจำนนต่อข้อกังวลของชาติตะวันตก.