นักวิทยาศาสตร์พบสาเหตุที่ทำให้เกิด แรงสั่นสะเทือนปริศนาที่ตรวจจับได้ทั่วโลกเมื่อปีก่อนแล้ว โดยเป็นผลจากคลื่นยักษ์สึนามิสูง 200 ม.

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 12 ก.ย. 2567 ว่า เมื่อเดือนกันยายนปี 2566 เซ็นเซอร์ตรวจจับแรงสั่นสะเทือนทั่วโลก ตรวจพบแรงสั่นปริศนาเป็นเวลาต่อเนื่องถึง 9 วัน ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ต้องร่วมกันตรวจสอบว่า แรงสั่นนี้มันมาจากไหนกันแน่ และในที่สุด พวกเขาก็ค้นพบคำตอบแล้ว

สิ่งที่พวกเขาพบคือ ในช่วงเวลาดังกล่าว เกิดดินถล่มครั้งใหญ่บริเวณภูเขาน้ำแข็งที่ “ดิกสัน ฟยอร์ด” (Dickson fjord) ในภูมิภาคกรีนแลนด์ ทำให้หินปริมาณมากถล่มลงมาพร้อมกับธารน้ำแข็งลงไปในทะเล ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามีสูงถึง 200 ม.

แต่สึดนามิลูกนี้ถูกกักให้แต่ภายในฟยอร์ด หรือ อ่าวแคบและยาวที่อยู่ระหว่างหน้าผาสูงชันแห่งนี้เท่านั้น ทำให้มันซัดกลับไปกลับมาเป็นเวลานานถึง 9 วัน จนเกิดแรงสั่นสะเทือนปริศนาดังกล่าว และทำให้สภาพพื้นผิวภูเขาในบริเวณนี้เปลี่ยนแปลงไป

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ดินถล่มลักษณะนี้กำลังเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้ธารน้ำแข็งที่คอยค้ำจุนภูเขาในกรีนแลนด์ละลาย

ผลการสืบสวนครั้งนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร “Science” โดยเป็นความร่วมมือสืบสวนของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติและกองทัพเรือเดนมาร์ก

“ตอนที่เพื่อนร่วมงานตรวจพบสัญญาณ (แรงสั่นสะเทือน) เมื่อปีก่อน มันดูไม่เหมือนแผ่นดินไหวเลย เราเรียกว่ามั่น ‘สิ่งไหวสะเทือนที่ไม่อาจระบุที่มาได้’ (unidentified seismic object)” ดร.สตีเฟน ฮิกส์ จากมหาวิทยาลัย “ยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน” (UCL) ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมสืบสวนด้วย กล่าว

...

“มันปรากฎขึ้นทุกๆ 90 วินาทีเป็นเวลา 9 วัน” ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์เริ่มหารือกันผ่านแชตออนไลน์ “ในเวลาเดียวกัน เพื่อนร่วมงานจากเดนมาร์ก ซึ่งทำงานภาคสนามในกรีนแลนด์บ่อยมาก ก็ได้รับรายงานว่าเกิดสึนามิขึ้นที่ฟยอร์ดห่างไกลแห่งหนึ่ง” “เราก็เลยมาร่วมมือกัน” ดร.ฮิกส์กล่าว

จากนั้นทีมนักวิทยาศาสตร์ก็ใช้ข้อมูลการไหวสะเทือนระบุตำแหน่งที่มาของสัญญาณ ไปที่ ดิกสัน ฟยอร์ด ทางตะวันออกของกรีนแลนด์ ก่อนจะรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติม รวมถึงรูปถ่ายจากดาวเทียม และรูปถ่ายจากดิกสัน ฟยอร์ด ซึ่งถ่ายโดยกองทัพเรือเดนมาร์ก ก่อนที่สัญญาณจะปรากฎครั้งแรกไม่นาน

ภาพดาวเทียมแสดงให้เห็นเมฆฝุ่นในฟยอร์ดแห่งนี้ ขณะที่การเปรียบเทียบภาพถ่ายก่อนและหลังเกิดเหตุ แสดงให้เห็นว่าภูเขาถล่มลงมาและหอบส่วนหนึ่งของธารน้ำแข็งลงทะเลไปด้วย โดยพวกเขาคำนวณว่า หินที่ตกลงไปมีปริมาณมากถึง 25 ล้าน ลบ.ม. เทียบเท่ากับตึกเอมไพร์สเตท 25 ตึก ทำให้เกิดคลื่นสึนามิสูงถึง 200 ม.

ตามปกติแล้ว สึนามิจะเกิดจากแผ่นดินไหวใต้ทะเล และจะสลายตัวไปภายในไม่กี่ชั่วโมงหากอยู่ในทะเลเปิด แต่สึนามิที่ดิกสัน ฟยอร์ด ต่างออกไป ดร.ฮิกส์อธิบายว่า ดินถล่มเกิดขึ้นภายในดินแดน ห่างจากมหาสมุทรถึง 200 กม. ท่ามกลางความซับซ้อนของระบบฟยอร์ด ทำให้คลื่นไม่สามารถกระจายพลังงานได้

ทีมนักวิทยาศาสตร์สร้างแบบจำลองสถานการณ์ขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่า แทนที่จะกระจายตัวไป คลื่นกลับซัดปะทะภูเขากลับไปกลับมานานถึง 9 วัน และแผ่กระจายคลื่นไหวสะเทือนไปทั่วโลก

“เราไม่เคยเห็นการเคลื่อนไหวของน้ำขนาดนี้เป็นเวลานานขนาดนี้มาก่อน” ดร.ฮิกส์กล่าว

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : bbc