เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นสิ่งที่ต้องตอกย้ำให้ผู้คนทั้งโลกร่วมตระหนักและช่วยกันคนละไม้ละมือในการแก้ปัญหา

เป็นที่รู้กันว่า ก๊าซมีเทน และ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คือ “ก๊าซเรือนกระจก” ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ก๊าซมีเทนที่ปล่อยออกมาทั่วโลกเกือบครึ่งหนึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และส่วนใหญ่ก็มาจากภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รองลงมาก็ภาคเกษตรกรรม และการจัดการขยะ

ที่น่าตื่นตระหนกคือพบว่าปัจจุบันมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมากกว่าในปี พ.ศ.2293 ถึง 50% การเพิ่มขึ้นของตัวเลขดังกล่าวก็เนื่องมาจากการสกัดและเผาถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ซึ่งพวกนี้คือเชื้อเพลิงฟอสซิล

นักวิทยาศาสตร์บนโลกมากมายที่พยายามหาทางแก้ไขและรับมือกับเรื่องที่น่ากังวลเหล่านี้ ล่าสุดองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือนาซา เผยว่าได้ติดตั้งเครื่องมือติดตามก๊าซเรือนกระจกอันทันสมัยบน ดาวเทียมเทเนเจอร์ 1 (Tanager-1) ซึ่งลอยอยู่ในวงโคจรโลก หลังถูกนำส่งโดยจรวดฟัลคอน 9 ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ จากฐานทัพอวกาศแวนเดนเบิร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว

ดาวเทียมเทเนเจอร์ 1 ได้รับการพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรภาครัฐและเอกชนที่ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรไม่แสวงหากำไรนำโดยกลุ่ม คาร์บอน แม็พเปอร์ พลาเน็ต แล็บส์ (Carbon Mapper Planet Labs) โดยเทเนเจอร์ 1 มีภารกิจคือใช้เทคโนโลยีถ่ายภาพที่พัฒนาจากห้องปฏิบัติการขับเคลื่อนไอพ่นของนาซา (เจพีแอล) เพื่อวัดการปล่อยก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดโดยตรง โดยจะสแกนพื้นผิวโลกราว 130,000 ตร.กม.ทุกวัน จากนั้นนักวิทยาศาสตร์ของกลุ่มคาร์บอน แม็พเปอร์ จะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาเพื่อระบุกลุ่มก๊าซที่มีร่องรอยของมีเทนและคาร์บอน ไดออกไซด์ ซึ่งจะทำให้ระบุแหล่งที่มาของก๊าซเหล่านี้ได้ในที่สุด.

...

ภัค เศารยะ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม