แรงงานพม่าอ่วม ต้องโอนเงินรายได้ทำงานในต่างแดน 25% กลับบ้าน เข้าบัญชีสมาชิกในครอบครัว ผ่านธนาคารในเมียนมา เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว หลัง รบ.ทหารออกกฎบังคับนี้เมื่อกันยายนปีที่แล้ว ทำให้ชาวพม่าไม่พอใจ ชี้ รบ.ทหาร "ถังแตก"

เมื่อ 6 ส.ค.2567 เว็บไซต์อิรวดี สื่อภาษาอังกฤษในประเทศเมียนมา หรือพม่า รายงานว่า กฎข้อบังคับให้แรงงานชาวพม่าซึ่งมาทำงานในประเทศไทย ต้องโอนเงินรายได้อย่างน้อย 1 ใน 4 หรือ 25% กลับบ้าน เข้าบัญชีสมาชิกในครอบครัว ผ่านระบบธนาคารของประเทศ เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว หลังจากรัฐบาลทหารพม่าภายใต้การนำของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ออกกฎข้อบังคับนี้เมื่อ ก.ย. 2566

กระทรวงแรงงานของเมียนมา ออกแถลงการณ์ว่า แรงงานชาวพม่าซึ่งไปทำงานในประเทศไทย ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ซึ่งวาระจ้างงานครบ 4 ปี ต้องโอนเงินรายได้อย่างน้อย 25% ของรายได้ ซึ่งเป็นเงินสกุลต่างประเทศ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเข้าบัญชีสมาชิกในครอบครัว ผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ของพม่า ซึ่งได้การรับรองจากรัฐบาลพม่า หากต้องการจะต่อใบอนุญาตทำงานแบบถูกกฎหมาย หลังจากครบวาระสัญญาจ้าง ทำงานในประเทศไทย 4 ปี 

กระทรวงแรงงานของพม่า ยังแจ้งว่า แรงงานชาวพม่าจะไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตทำงานไนไทยเป็นเวลา 2 ปี ภายใต้บันทึกความเข้าใจ ซึ่งเรียกกันว่า หรือ MOU-Return ถ้าแรงงานชาวพม่าไม่โอนเงิน 6,000 บาท หรือ 25% ของรายได้พื้นฐานจากการทำงานที่ประเทศไทย ในช่วง 3 เดือน กลับบ้าน ผ่านระบบธนาคาร ซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐบาลเมียนมา

...

กระทรวงแรงงานพม่า ยังแจ้งด้วยว่า แรงงานชาวพม่าที่จะไปยื่นเรื่องขอต่อใบอนุญาตทำงานในต่างประเทศ  ที่สำนักงาน 2 แห่ง ในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และ Kawthaung หรือคนไทยเรียกเกาะสอง จะต้องแสดงเอกสารการโอนเงินรายได้อย่างน้อย 25% ผ่านระบบธนาคาร หากต้องการต่อใบอนุญาตทำงานในต่างแดน

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์เรดิโอฟรีเอเชีย รายงานเมื่อกันยายน 2566 ว่า กระทรวงแรงงานพม่าได้ออกกฎข้อบังคับ เมื่อต้นเดือนกันยายน ปีที่ผ่านมา ให้ชาวพม่าซึ่งไปทำงานในต่างประเทศต้องเปิดบัญชีพิเศษที่ธนาคาร CB Bank ในเมียนมา โดยใช้ชื่อบัญชีเป็นสมาชิกในครอบครัว และต้องโอนเงินรายได้ 25% จากการทำงานเข้ามาในบัญชี ผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ของพม่าอย่างเป็นทางการเท่านั้น หากต้องการต่อใบอนุญาตทำงานในต่างประเทศ

รัฐบาลทหารพม่าออกกฎข้อบังคับนี้ ทำให้ชาวพม่าที่มาทำงานในต่างแดนและประเทศไทย ต่างไม่พอใจอย่างมาก มีความเห็นว่าข้อบังคับนี้เป็นการปล้นเงินประชาชน เพราะเชื่อว่ารัฐบาลทหารต้องการกดดันให้แรงงานชาวพม่าต้องจ่ายภาษีจากเงินเดือนและรายได้ให้แก่รัฐบาลพม่า ในขณะที่แรงงานชาวพม่าได้เสียภาษีให้กับรัฐบาลประเทศที่ไปทำงานอยู่แล้ว และไม่ควรต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลพม่าอีก เพราะพลเมืองจากประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียน ได้รับการยกเว้นการจ่ายภาษีซ้อน

ที่มา : Irrawaddy