- การแข่งขันโอลิมปิก 2024 เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลด้านความปลอดภัย เพราะอยู่ในช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากสงครามในยูเครนและฉนวนกาซา โดยในอดีตเมื่อ 52 ปีก่อน ที่โอลิมปิกเกมส์ 1972 ที่นครมิวนิก ประเทศเยอรมนี เคยเกิดเหตุนักกีฬาอิสราเอล 11 คนถูกสังหารหมู่โดยกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ทำให้มีความกังวลว่า อาจเกิดเหตุร้ายในทำนองเดียวกันนี้อีก
- คณะกรรมการโอลิมปิกปาเลสไตน์ เคยส่งจดหมายเรียกร้องให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ห้ามอิสราเอลเข้าร่วมการแข่งขันปารีสโอลิมปิก ที่ระบุว่าอิสราเอลกำลังละเมิดข้อมติที่สมัชชาสหประชาชาติรับรองเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งเรียกร้องให้มีการสงบศึกในช่วงกีฬาโอลิมปิกสำหรับฝ่ายที่ขัดแย้งกันทั้งหมดทั่วโลกตั้งแต่ 7 วันก่อนเปิดฉากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกไปจนถึง 7 วันหลังจากปิดการแข่งขันพาราลิมปิก
- ยาซาน อัล-บาวแวบ นักว่ายน้ำชาวปาเลสไตน์ ซึ่งเป็น 1 ใน 8 นักกีฬาชาวปาเลสไตน์ ที่เข้าร่วมในการแข่งขันครั้งนี้ กล่าวไว้ว่า "ผมไม่มีปัญหาอะไรกับมนุษย์คนไหนเลย ยกเว้นก็แต่คุณจะเหยียบคอของผม" และเขาเองก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับนักว่ายน้ำจากอิสราเอลที่ลงแข่งในสนามเดียวกัน
การแข่งขันโอลิมปิก ปารีส 2024 เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลด้านความปลอดภัย เพราะอยู่ในช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากสงครามในยูเครนและฉนวนกาซา โดยในอดีตเมื่อ 52 ปีก่อน ที่โอลิมปิกเกมส์ 1972 ที่นครมิวนิก ประเทศเยอรมนี เคยเกิดเหตุนักกีฬาอิสราเอล 11 คนถูกสังหารหมู่โดยกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ทำให้มีความกังวลว่า อาจเกิดเหตุร้ายในทำนองเดียวกันนี้อีก
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการโอลิมปิกปาเลสไตน์ เคยส่งจดหมายเรียกร้องให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ห้ามอิสราเอลเข้าร่วมการแข่งขันปารีสโอลิมปิก ที่ระบุว่าอิสราเอลกำลังละเมิดข้อมติที่สมัชชาสหประชาชาติรับรองเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งเรียกร้องให้มีการสงบศึกในช่วงกีฬาโอลิมปิกสำหรับฝ่ายที่ขัดแย้งกันทั้งหมดทั่วโลกตั้งแต่ 7 วันก่อนเปิดฉากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกไปจนถึง 7 วันหลังจากปิดการแข่งขันพาราลิมปิก
...
อย่างไรก็ตาม ยาซาน อัล-บาวแวบ นักว่ายน้ำชาวปาเลสไตน์ ได้ส่งสารแห่งสันติภาพในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปารีส 2024 ที่ชี้ให้เห็นว่าการนำการเมืองเข้ามาในวงการกีฬา คือ "ความผิดพลาดครั้งใหญ่"
มหกรรมกีฬาโอลิมปิก ปารีส 2024 ถือเป็นช่วงเวลาของการสงบศึกชั่วคราวระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ดังที่ยาซาน อัล-บาวแวบ นักว่ายน้ำชาวปาเลสไตน์ ที่เข้าร่วมในการแข่งขันครั้งนี้ กล่าวไว้ว่า "ผมไม่มีปัญหาอะไรกับมนุษย์คนไหนเลย ยกเว้นก็แต่คุณจะเหยียบคอของผม" โดยอัล-บาวแวบ ซึ่งชูธงปาเลสไตน์อย่างภาคภูมิใจ หลังจากจบอันดับที่ 3 ในการแข่งขันกรรเชียง 100 เมตร รอบแรก
ภายใต้หลังคาของสนามแข่งเดียวกัน และในการแข่งขันในรอบที่ 4 คือ อดัม มารานา นักว่ายน้ำจากอิสราเอล ซึ่งจบอันดับที่ 4 ด้วยเวลาที่เร็วกว่า อัล-บาวแวบ และปรากฏว่าทั้งคู่ไม่ได้ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ แต่ทั้งคู่ก็ไม่มีเรื่องบาดหมางกันแต่อย่างใด ทั้งที่ทั้งคู่เดินผ่านกันไปมาหลายครั้ง และแม้แต่เปลี่ยนชุดกันใกล้ๆ กัน
นี่อาจเป็นการแข่งขันที่นักกีฬาชาวปาเลสไตน์กับอิสราเอลได้อยู่ใกล้กันมากที่สุดในการแข่งขันครั้งนี้ โดยปาเลสไตน์ส่งนักกีฬาแข่งขันทั้งหมดเพียง 8 คนเท่านั้น
หลังจากสงครามในฉนวนกาซาที่ลุกลามมานานกว่า 9 เดือน ซึ่งเกิดจากการโจมตีของกลุ่มฮามาส อัล-บาวแวบ กล่าวว่าเขาไม่สามารถนับจำนวนสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนที่เสียชีวิตได้ แต่เขากล่าวว่า เขามี "ข้อความแห่งสันติภาพ" บางอย่างที่อยากจะพูดถึง
"ผมรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก" เขากล่าวกับนักข่าวทันทีหลังจากการแข่งขันเสร็จสิ้น "นี่เป็นงานเดียวที่มีความยุติธรรม กฎ ระเบียบ ทุกคนต้องปฏิบัติตาม และผมมีความสุขมากที่ได้เป็นตัวแทนของประเทศ ที่ไม่ได้รับการยอมรับในประเทศนี้ เพื่อชูธงของประเทศของผม เพื่อปาเลสไตน์โดยเฉพาะ ผมสามารถเล่นกีฬาได้เหมือนคนอื่นๆ ผมดูเหมือนเด็กที่มาจากฉนวนกาซา"
เนื่องจากไม่มีสระว่ายน้ำแม้แต่แห่งเดียวในปาเลสไตน์ เขาจึงต้องเรียนว่ายน้ำที่ดูไบเพื่อผ่านการคัดเลือกสำหรับการแข่งขัน เขาเกิดในซาอุดีอาระเบีย แต่เขาอธิบายว่าบรรพบุรุษของเขาคือผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ "เพราะกีฬา จึงทำให้คุณฟังผม และใส่ใจกับสิ่งที่ผมพูด" เขากล่าวต่อว่า "แต่กลับไม่มีใครสนใจสิ่งที่ชาวปาเลสไตน์พูด ดังนั้นนี่คือข้อความแห่งสันติภาพของผม: โปรดปฏิบัติต่อเราในฐานะมนุษย์ เราสมควรได้รับสิทธิเช่นเดียวกับทุกคน เราต้องการเล่นกีฬาเหมือนกับทุกๆ คน"
ขณะที่อัล-บาวแวบกำลังพูดคุยกับนักข่าว มารานาเดินผ่านด้านหลังเขาไปโดยไม่มีใครสังเกตเห็น อัล-บาวแวบหยุดพูดก่อนที่จะกล่าวว่าคู่แข่งชาวอิสราเอลของเขาไม่ควรได้รับอนุญาตให้ลงแข่งขัน แม้ว่าคณะกรรมการโอลิมปิกปาเลสไตน์ (POC) จะส่งเอกสารให้กับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อขอให้ห้ามอิสราเอลส่งนักกีฬาโดยสิ้นเชิง
...
นักกีฬาอิสราเอลถูกกล่าวหาว่าให้กำลังใจทหาร
ชาวปาเลสไตน์กล่าวหาว่า นักกีฬาอิสราเอลมาเยี่ยมทหารที่ประจำการในกองพันใกล้ฉนวนกาซาเพื่อให้กำลังใจกองทัพอิสราเอล โดยมีรายงานว่าแชมป์ยูโดคนหนึ่งได้โพสต์ภาพขีปนาวุธที่มีลายเซ็นหลายลูกบนโซเชียลมีเดีย
คณะกรรมการโอลิมปิกสากลให้การยอมรับสถานะของปาเลสไตน์ตั้งแต่ปี 1995 ปัจจุบันสมาชิกสหประชาชาติ 3 ใน 4 ก็ให้การยอมรับปาเลสไตน์เช่นกัน แต่สหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส เจ้าภาพการแข่งขันในปีนี้ไม่ยอมรับ
อัล-บาวแวบ วัย 24 ปี กล่าวว่า "ผมจะไม่พูดเรื่องการเมือง" "การนำการเมืองเข้ามาในวงการกีฬาเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่" เขากล่าวต่อว่า "ผมไม่มีปัญหากับมนุษย์คนไหนเลย ยกเว้นแต่ว่าคุณจะเหยียบคอของผม นั่นคือตอนที่ผมมีปัญหา นั่นคือสิ่งที่ผมต้องพูด ปฏิบัติต่อเราในฐานะมนุษย์ และผมก็จะปฏิบัติต่อคุณในฐานะมนุษย์"
อัล-บาวแวบ ซึ่งอาศัยอยู่ในดูไบ ว่ายน้ำโดยวาดรูปธงปาเลสไตน์เล็กๆ ทาไว้ที่หน้าอก และกล่าวว่า การที่ทีมและธงของพวกเขามาปรากฏตัวที่การแข่งขันครั้งนี้ ทำให้เกิดปฏิกิริยาเชิงบวกถึง 95 เปอร์เซ็นต์
...
"ผมเป็นชาวปาเลสไตน์และรู้สึกภูมิใจ"
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่านักกีฬาคนอื่นๆ ได้ล้อเลียนพวกเขา ส่วนในงานแข่งขันอื่นๆ มีคนบอกให้เราปลดธง หรือถอดเสื้อออก เพราะไม่อยากเห็นปาเลสไตน์อยู่บนนั้น
"ลองนึกภาพว่าถ้าเป็นประเทศของคุณล่ะ แต่ผมเป็นชาวปาเลสไตน์และผมภูมิใจ และผมไม่สนใจว่าใครจะไม่อยากให้ผมถือธงชาติ ผมก็แค่จัดการกับมัน"
เขายังพูดถึงเพื่อนและครอบครัวที่สูญเสียชีวิตในสงครามว่า "ผมจะไม่พูดถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับพวกเขา แต่ขอแค่รู้ว่ามีสมาชิกในครอบครัวของผมถูกฆ่า แต่ผมอยู่ที่นี่"
อัล-บาวแวบ ซึ่งศึกษาในสหราชอาณาจักร ได้มีส่วนร่วมในองค์กรที่มุ่งหวังจะปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักว่ายน้ำชาวปาเลสไตน์ เขาบอกว่า เขาหวังว่าเรื่องราวของเขาจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักกีฬาคนอื่นๆ
เขากล่าวอธิบายว่า "ผมต้องหาเงินเอง ผมบริหารโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ในดูไบ ผมมีพนักงานหลายคน แต่พ่อของผมเป็นผู้ลี้ภัย ดังนั้นเขาจึงบอกผมว่าถ้าคุณไม่สร้างความแข็งแกร่งด้วยตัวเอง ก็ไม่มีใครสร้างให้คุณได้"
...
ด้านวาเลอรี ทาราซี นักว่ายน้ำชาวปาเลสไตน์-อเมริกัน ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการว่ายน้ำของเธอหลังจากได้ชมไมเคิล เฟลป์ส ตำนานนักว่ายน้ำชาวอเมริกัน คว้าเหรียญทอง 8 เหรียญที่ปักกิ่งในปี 2551 และการได้มาแข่งขันที่ปารีสถือเป็นความฝันที่เป็นจริง เช่นเดียวกับนักกีฬานับไม่ถ้วนที่ก้าวขึ้นสู่เวทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการกีฬา แต่หลังจากสงครามในฉนวนกาซา ที่ทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตหลายหมื่นคน ทาราซีกล่าวว่าการเข้าร่วมโอลิมปิกของเธอถือเป็นการระลึกถึงผู้คนเหล่านั้นเช่นกัน
ทาราซีเกิดในปาเลสไตน์ แต่เธอเกิดและเติบโตในสหรัฐฯ เธอจะลงแข่งว่ายน้ำในประเภทผสม 200 เมตรในวันศุกร์นี้ เธอเล่าว่าสมาชิกครอบครัวของเธอในฉนวนกาซา 4 คนเสียชีวิต เมื่อโบสถ์แห่งหนึ่งถูกโจมตีระหว่างการโจมตีด้วยระเบิดของอิสราเอลเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
"พวกเราทุกคนต่างได้รับผลกระทบ" เธอกล่าวถึงจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในกาซา ซึ่งขณะนี้ใกล้จะถึง 40,000 คนแล้ว "นี่คือเพื่อนของเรา ครอบครัวของเรา เพื่อนร่วมทีมของเรา หรือสมาชิกทีมชาติของเรา"
แม้ว่าเธอจะมีตารางการฝึกซ้อมที่หนักหน่วงและต้องเสียสละเพื่อแข่งขันในระดับนี้ แต่ทาราซีก็ตระหนักดีว่าเธออยู่ในตำแหน่งที่มีสิทธิพิเศษที่ไม่เหมือนใคร โดยได้รับโอกาสให้ถือธงในงานแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
เธอกล่าวถึงเพื่อนร่วมชาติของเธอที่บ้านเกิด "ความเจ็บปวดเล็กน้อยของฉันเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญทุกวัน"
ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign