จากกรณีความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนไต้หวัน-ไทยฉบับแก้ไข เมื่อตอนที่แล้ว มีสาระสำคัญอีก 2 ประการ คือ ผู้ประกอบการไต้หวันได้รับการคุ้มครองการลงทุนทางอ้อมโดยผ่านดินแดนที่สาม ความตกลงฉบับนี้ นอกจากจะให้ความคุ้มครองพฤติกรรมการลงทุนแบบดั้งเดิมแล้ว ยังครอบคลุมถึงกรณีที่ผู้ประกอบการทั้งสองฝ่ายลงทุนทางอ้อมโดยผ่านดินแดนที่สามด้วย

ตามด้วยรัฐบาลทั้งสองฝ่ายอาจใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อสาธารณประโยชน์ ทั้งสองฝ่ายต่างสามารถกำหนดนโยบายและมาตรการด้านสาธารณสุข, การรักษาสิ่งแวดล้อม, สิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน, การคุ้มครองผู้บริโภคและความ มั่นคงทางระบบการเงิน เพื่อสาธารณประโยชน์

โดยกรณีนี้ “จางจวิ้นฝู” ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ที่ร่วมลงนามกับนายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (ไทเป) ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า นับแต่มีการผลักดันนโยบายมุ่งใต้ใหม่เป็นต้นมา ระหว่างปี 2559 ถึง 2566 ยอดรวมการค้าระหว่างไทยกับไต้หวันเพิ่มขึ้นจาก 9,301 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 334,836 ล้านบาท กลายเป็น 16,240 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 584,640 ล้านบาท

ถือว่าเพิ่มขึ้น 74.6% ส่วนยอดเงินการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายก็เพิ่มขึ้นจาก 3,180 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 114,480 ล้านบาท กลายเป็น 6,990 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 251,640 ล้านบาท หรือเพิ่มถึง 119.8% เป็นการบ่งชี้ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนที่สำคัญด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของไต้หวันในภูมิภาคอาเซียน

ผู้แทนไทเปยังทิ้งท้ายด้วยว่า ภายใต้แนวโน้ม การปรับตัวใหม่ของห่วงโซ่อุปทานของโลก ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่หมายตาของผู้ประกอบการทั่วโลก ซึ่งใน จำนวนนี้ไทยเป็นประเทศเป้าหมายการลงทุนอันดับแรกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็ก ทรอนิกส์ของไต้หวัน

...

ด้วยเหตุนี้การลงนามความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนไต้หวัน-ไทยในจังหวะนี้ จึงเป็นการเพิ่มความมั่นใจแก่ผู้ประกอบการไต้หวันที่มีความปรารถนาจะมาลงทุนในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี.

ตุ๊ ปากเกร็ด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม