เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวแสดงจุดยืนของรัฐบาลรัสเซียหลังเสร็จสิ้นภารกิจเดินสายเยือoเกาหลีเหนือ-เวียดนามช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุถึงประเด็นสถานการณ์ความมั่นคงโลก และสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตอนนี้ เห็นได้ชัดว่ามีการจัดตั้งกลุ่มความมั่นคงต่างๆขึ้นมา อย่างองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เอง ก็กำลังจะเข้ามาปักหลักอย่างถาวรในเอเชีย ซึ่งถือเป็น ภัยคุกคามแก่ทุกประเทศ รวมถึงรัสเซีย
การมีโอกาสมาเยือนเวียดนามครั้งนี้ รัสเซียได้เห็นว่าเวียดนามมีความสนใจที่ตรงกันและใกล้เคียงกันกับเรา ในการสร้างโครงสร้างทางความมั่นคงที่ยึดในหลักการไม่ใช้กำลัง และการหาข้อยุติความขัดแย้งอย่างสันติ ซึ่งไม่มีที่ยืนให้กับกลุ่มพันธมิตรทางการทหาร การพัฒนาควรมุ่งไปยังความร่วมมือระหว่างกันเป็นหลัก
สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้งในยุโรป รัสเซีย ขอแสดงจุดยืนว่า การเอาชนะรัสเซียในเชิงยุทธศาสตร์ถือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะการเอาชนะรัสเซียในเชิงยุทธศาสตร์ย่อมหมายถึงการสิ้นสุดความเป็นประเทศ การทำลายประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่าพันปี ชาติตะวันตกมีความคาดหวังว่าถึงจุดๆหนึ่งชาวรัสเซีย จะเกิดความหวาดกลัว ขอถามกลับว่าทำไมต้องกลัวด้วย แน่จริงก็ลองไปให้สุดทางเลยดีหรือไม่ แต่แน่นอนว่า ความขัดแย้งใดๆที่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ย่อมหมายถึง ผลลัพธ์ที่เลวร้ายสำหรับมวลมนุษยชาติ
ส่วนในประเด็นของยูเครน นายปูตินกล่าวถึงประเด็นนายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนว่า เป็นที่รับรู้กันว่าวาระการดำรงตำแหน่งของผู้นำยูเครนได้ครบกำหนดไปแล้วเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ถ้ายึดตามกระบวนการจริงๆ อำนาจการบริหารประเทศควรโอนถ่ายไปยังประธานรัฐสภา แต่แน่นอนว่าชาติตะวันตกไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนตัวในตอนนี้ เวลานั้นยังไม่มาถึง หลังจากนี้เชื่อว่าจะมีการโยนการตัดสินใจที่แย่ๆให้นายเซเลนสกีเป็นผู้รับผิดชอบ รวมถึงให้รับผิดชอบเรื่องการลดอายุเกณฑ์ทหาร ซึ่งเมื่อถึงจุดๆหนึ่งที่นายเซเลนสกีหมดประโยชน์แล้ว ก็จะมีการเปลี่ยนตัวผู้นำ ส่วนตัวคาดว่าการเปลี่ยนผู้นำจะมีขึ้นภายใน 6 เดือนแรกของปี 2568
...
นอกจากนี้ นายปูตินยังกล่าวว่ารัสเซียจะไม่ถอนทหารออกจากยูเครน การเจรจาใดๆที่มีประเด็น เรื่องถอนทหารจะไม่มีวันเกิดขึ้น เพราะรัสเซียมองว่า รัฐบาลยูเครนไม่อยากสละอำนาจ ไม่อยากจัดการเลือกตั้งตามปกติ พวกเขาจะไม่มีทางเจรจาหยุดยิงแน่นอน ซึ่งเอาเข้าจริงๆแล้ว การที่มีทหารรัสเซียอยู่ในยูเครนก็เป็นผลประโยชน์สำหรับรัฐบาลยูเครนด้วยซ้ำ ส่วนเรื่องที่ชาติตะวันตกปฏิเสธข้อเสนอหย่าศึก โดยให้ยูเครนรับรองอธิปไตยของรัสเซียเหนือดินแดนโดเนตสก์ ลูกานสก์ ซาโปริชเชีย เคียร์ซอน ถือเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่