นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ค้นพบไมโครพลาสติกในอวัยวะเพศชายเป็นครั้งแรก ทำให้เกิดคำถามถึงความเป็นไปได้ที่ไมโครพลาสติกอาจส่งผลต่อภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

ข้อมูลส่วนหนึ่งของผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ IJIR: Your Sexual Medicine Journal เมื่อวันพุธ (19 มิ.ย.) พบไมโครพลาสติก 7 ชนิดที่แตกต่างกันในตัวอย่างเนื้อเยื่ออวัยวะเพศชาย 4 ใน 5 ตัวอย่าง ที่นำมาจากผู้ชาย 5 คน

ไมโครพลาสติกเป็นชิ้นส่วนโพลีเมอร์ที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ไปจนถึง 1 ไมโครเมตร ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อพลาสติกขนาดใหญ่แตกสลาย ไม่ว่าจะโดยการย่อยสลายทางเคมีหรือการสึกหรอทางกายภาพเป็นชิ้นเล็กๆ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าอนุภาคขนาดจิ๋วบางชนิดสามารถเข้าไปยังเซลล์และเนื้อเยื่อในอวัยวะสำคัญๆ ได้ และมีหลักฐานยืนยันว่าอนุภาคเหล่านี้มีอยู่ในร่างกายของเรามากขึ้น

รันจิธ รามาซามี ผู้เขียนรายงานการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะสืบพันธุ์ ซึ่งดำเนินการวิจัยขณะทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยไมอามี กล่าวว่า เขาใช้การศึกษาก่อนหน้านี้ซึ่งพบหลักฐานของไมโครพลาสติกในหัวใจมนุษย์เป็นพื้นฐานสำหรับการวิจัยของเขา รามาซามี กล่าวว่า เขาไม่แปลกใจที่พบไมโครพลาสติกในอวัยวะเพศชาย เนื่องจากมันเป็น "อวัยวะที่มีหลอดเลือดจำนวนมาก" เช่นเดียวกับหัวใจ

ตัวอย่างดังกล่าวนำมาจากผู้เข้าร่วมการศึกษาที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ED) และอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อรับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะเพศชาย ที่มหาวิทยาลัยไมอามี ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2566

จากนั้นจึงนำตัวอย่างมาวิเคราะห์โดยใช้การถ่ายภาพทางเคมี ซึ่งพบว่าชาย 4 ใน 5 คนมีไมโครพลาสติกในเนื้อเยื่อองคชาต จากการศึกษาพบว่าไมโครพลาสติกที่แตกต่างกัน 7 ประเภท โดยพบ พอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (PET) และ พอลิโพรไพลีน (PP) ในปริมาณมากที่สุด

...

รามาซามี กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงของไมโครพลาสติกที่มีต่อภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และหากมีระดับไมโครพลาสติกที่เกินกว่านั้น จะทำให้เกิดพยาธิสภาพหรือไม่ และไมโครพลาสติกชนิดใดที่มีความเป็นพยาธิสภาพ

สำหรับผลกระทบที่กว้างขึ้นของการค้นพบครั้งนี้ รามาซามี กล่าวว่า เขาหวังว่าการศึกษานี้จะช่วยสร้างความตระหนักรู้มากขึ้นเกี่ยวกับการมีอยู่ของสิ่งแปลกปลอมภายในอวัยวะของมนุษย์ และส่งเสริมการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ และกล่าวว่า "เราอาจจำเป็นต้องคำนึงถึงการบริโภคน้ำและอาหารจากภาชนะพลาสติก และพยายามจำกัดการใช้จนกว่าจะมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อระบุระดับที่อาจก่อให้เกิดพยาธิสภาพ".

ที่มา CNN

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign