ผลวิจัยชี้คนทั่วโลกจำนวนมากหันหลังให้กับการติดตามข่าวสาร โดยมองว่าทำให้หดหู่ มีความรุนแรง และน่าเบื่อ

ผลวิจัยจากสถาบันรอยเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เปิดเผยผลสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการติดตามข่าวสารของคนทั่วโลก โดยพบว่าเกือบ 4 ใน 10 หรือราว 39 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนทั่วโลกเริ่มที่จะหลีกเลี่ยงการติดตามข่าวสารบางครั้ง หรือบ่อยๆ เปรียบเทียบกับในปี 2017 ที่มีคนหลีกเลี่ยงติดตามข่าวสารคิดเป็น 29 เปอร์เซ็นต์
โดยผลจากการวิจัยยังพบด้วยว่าข่าวเรื่องสงครามในยูเครน และตะวันออกกลาง มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนตัดสินใจปิดรับข่าวสาร
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างวัยผู้ใหญ่ 94,943 คน จาก 47 ประเทศ โดย ยูโกฟ เมื่อเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ ที่สำรวจการรายงานข่าวโดยดิจิทัล นิวส์ รีพอร์ท ของปีนี้ พบว่า การหลีกเลี่ยงการติดตามข่าวเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุด โดยยังพบว่าในช่วงที่ประชาชนหลายพันล้านคนทั่วโลก กำลังมีการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับภูมิภาค ก็ทำให้ผู้คนในบางประเทศหันมาสนใจในข่าวสารมากขึ้น รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในภาพรวม ยังคงเป็นไปในทิศทางที่ลดลง โดยผลสำรวจจากทั่วโลกพบว่า 46 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าพวกเขามีความสนใจในข่าวสารเป็นอย่างมาก ซึ่งลดลงจากปี 2017 ที่มีถึง 63 เปอร์เซ็นต์ โดยในอังกฤษมีคนสนใจในข่าวลดลงเหลือเพียงเกือบครึ่งของปี 2015

นิค นิวแมน หัวหน้าทีมวิจัยระบุว่า เห็นได้ชัดว่าวาระข่าวเป็นเรื่องยากโดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะมีทั้งโรคระบาด และสงคราม จึงเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนจะหันหลังให้กับข่าว เพื่อปกป้องสุขภาพจิตของตัวเอง หรือต้องการใช้ชีวิตของแบบสงบๆ

บางคนอาจจะรู้สึกว่าข่าวสารมันท่วมท้น และรู้สึกสับสนในจำนวนข่าวที่มีมากมาย ในขณะที่อีกหลายคนรู้สึกเหนื่อยกับการเมือง โดยกลุ่มผู้หญิงและเยาวชนมักจะเป็นกลุ่มที่รู้สึกแย่กับข่าวสารต่างๆ มากที่สุด

...

ขณะเดียวกัน รายงานชิ้นนี้ยังพบว่า ผู้ชมที่ติดตามรับชมสื่อยุคเก่าแบบทีวีหรือหนังสือพิมพ์ลดลงอย่างรวดเร็วในรอบไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากคนยุคใหม่ชอบติดตามข่าวสารจากช่องทางออนไลน์ และโซเชียลมีเดียมากกว่า

โดยแพลตฟอร์มทางโซเชียลที่สำคัญสำหรับการติดตามข่าวสารยังคงเป็นเฟซบุ๊ก แม้ว่าจะลดลงในระยะยาว ส่วนยูทูบ และวอตส์แอป ยังคงเป็นแหล่งติดตามข่าวที่สำคัญสำหรับคนจำนวนมาก ส่วนติ๊กต่อกกำลังมาแรง และแซงหน้า เอ็กซ์ เป็นครั้งแรก.

ที่มา : BBC

คลิกอ่านข่าวเกี่ยวกับ ข่าว