ในวันที่ 31 พ.ค. ที่จะถึงนี้ ถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญของวงการสาธารณสุขโลก นั่นคือวันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day)
และแน่นอนว่าประเด็นที่กำลังมีการถกเถียง มากที่สุด ณ เพลานี้ คงหนีไม่พ้นอันตรายของ “บุหรี่ไฟฟ้า” เมื่อเทียบกับ “บุหรี่มวน” ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสิ่งที่ถูก “แบน” มากว่า 10 ปี การนำเข้า และจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่อง “ผิดกฎหมาย” และประเทศที่ใช้มาตรการเดียวกับเราก็มี เช่น กัมพูชา อินเดีย อิหร่าน สิงคโปร์ แต่การที่คนก็ยังเอามาพูดกันตามวงสนทนาออนไลน์-ออฟไลน์ได้ แสดงว่าต้องสูบกันอยู่ และหากได้เดินทางไปไหนมาไหน ก็คงเคยเห็นคนยืนพ่นพ็อดกันควันโขมง
ข้อมูลสถิติจากกรมศุลกากรจีนระบุว่าในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค.2566 มีการส่งออกบุหรี่ไฟฟ้ามายังประเทศไทยเป็นมูลค่ากว่า 1,600 ล้านบาท ขณะที่ผลสำรวจของหน่วยงานรัฐในไทยก็พบว่าสถานการณ์ค่อนข้างวิกฤติ อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนไทยเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า และช่วงครึ่งเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีการจับกุมผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายกว่า 1.2 ล้านชิ้น จึงก่อให้เกิดคำถามว่า การแบนอย่างสิ้นเชิงมันได้ผลมากน้อยเพียงใด และจะทำเช่นไรกันดีกับทิศทางวันข้างหน้า
บุหรี่ทุกชนิดไม่ว่าแบบเก่าหรือแบบใหม่ ถือเป็น “อันตรายต่อสุขภาพ” มีการรณรงค์ให้ลดละเลิกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางประเทศอย่างสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา และบางชาติ ในสหภาพยุโรปเอนเอียงไปในประเด็นที่ว่าในเมื่อเป็นสิ่งที่ห้ามยาก ก็พยายามทำให้จำนวนคนสูบลดจำนวนลงดีไหม โดยนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาเสนอเป็นทางเลือก มี 87 ประเทศทั่วโลกตัดสินใจให้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกเป็นสิ่งถูกกฎหมาย
แต่ถึงถูกกฎหมายก็ใช่ว่าจะเป็นการ “เปิดเสรี” มั่วซั่ว มีการใช้มาตรการควบคุมต่างๆเข้ามาจับ ทั้งคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การสื่อสาร รูปแบบบรรจุภัณฑ์ อายุขั้นต่ำผู้ซื้อ อายุผู้ขาย รวมถึงเสนอแนวทางเพิ่มเติมอย่างการคุมรสชาติของตัวยา ให้ไม่ดึงดูดกลุ่มเยาวชน แต่ทั้งหมดนี้ ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการควบคุมเต็ม 100% เพราะต้องเผชิญกับปัญหาของเถื่อน ของไม่ได้มาตรฐานที่ราคาถูกกว่าเข้ามาตีตลาดอยู่เรื่อยๆ
...
ไม่ว่าจะแนวทางไหน ถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ยากจะหาทางออก และจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องมาคุยกันเพื่อสร้างสมดุล ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ มีมาตรการของหน่วยงานตัวเอง แต่แน่นอนครับว่า สุดท้ายแล้วการตัดสินใจอย่างแน่วแน่ของคนๆหนึ่งว่า “พอแล้ว ไม่เอาแล้ว” กับการสูบบุหรี่ ย่อมถือเป็นสิ่งที่ทรงพลังมากที่สุด เหนือยิ่งกว่ามาตรการและข้อบังคับใดๆ.
ตุ๊ ปากเกร็ด
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม