ดวงอาทิตย์ยังคงปลดปล่อยมวลออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดพายุสุริยะรุนแรงพุ่งเข้าหาโลกหลายระลอก โดยคาดกว่ากิจกรรมนี้จะเกิดขึ้นต่อไปจนถึงวันอังคารเป็นอย่างน้อย

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า โลกเผชิญพายุสุริยะเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันในวันอาทิตย์ที่ 12 พ.ค. 2567 หลังจากดวงอาทิตย์ยังคงปลดปล่อยมวล (CME) พุ่งสู่โลก โดย CME ความเร็วสูงสุด 1,200 ไมล์ต่อวินาที มาถึงชั้นบรรยากาศชั้นนอกของโลกในช่วงเย็นวันอาทิตย์

ตลอดช่วง 2 วันที่ผ่านมา มีรายงานเบื้องต้นว่า พายุสุริยะทำให้ระบบพลังงานขัดข้องในบางพื้นที่, ทำให้คุณภาพของการสื่อสารความถี่สูงลดลง, สัญญาณจีพีเอสดับ และการโคจรของดาวเทียมมีปัญหา ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆ แต่ผลกระทบเหล่านี้จะดำเนินต่อไปอย่างน้อยจนถึงวันอังคาร

จุด R3664 ซึ่งขยายตัวออกจนมีพื้นที่เกือบ 200,000 ตร.กม.แล้ว
จุด R3664 ซึ่งขยายตัวออกจนมีพื้นที่เกือบ 200,000 ตร.กม.แล้ว

...

พายุสุริยะดังกล่าว ถูกปล่อยออกมาจากจุดที่เรียกว่า ‘R3664’ บริเวณซีกใต้ของดวงอาทิตย์ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโลกประมาณ 15 เท่า โดยมันปลดปล่อยพายุสุริยะระดับ G5 หรือ ‘รุนแรงมาก’ (extreme) พุ่งเข้าสู่โลกเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ที่โลกเผชิญพายุสุริยะระดับนี้

กิจกรรมของดวงอาทิตย์จะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับปานกลางถึงสูง ตั้งแต่วันที่ 12-14 พ.ค. โดยคาดว่าจะมีการลุกจ้า (solar flare) ปล่อยรังสีออกมาทั้งขนาดใหญ่ หรือ ‘X class’ และขนาดกลาง หรือ ‘M class’ ออกมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคลื่นวิทยุและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนโลก

ขณะที่สภาพแวดล้อมของลมสุริยะจะรุนแรงขึ้นเนื่องจากการปลดปล่อยมวลอย่างต่อเนื่องของดวงอาทิตย์ และจะเป็นแบบนี้ต่อไปในวันที่ 12-13 พ.ค. ก่อนจะเริ่มลดลงในวันที่ 14 พ.ค. เนื่องจากดวงอาทิตย์หมุนจนจุด R3664 หันไปจากโลกแล้ว

ส่วนระดับความรุนแรงของพายุสุริยะที่ดวงอาทิตย์ปล่อยออกมา สูงสุดที่ระดับ G4 ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาจนถึงวันอาทิตย์ เนื่องจากกิจกรรม CME ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คาดว่าในวันที่ 13 พ.ค. พายุสุริยะจะมีความรุนแรงระดับ G1-G3 และเหลือเพียงระดับ G1 ในวันที่ 14 พ.ค.

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : earth