ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence) กำลังก้าวไปอยู่เหนือจินตนาการของมนุษย์ เราใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อรับใช้ชีวิต เช่น แก้ปัญหาการทำงานที่ซับซ้อน ลดความเสี่ยงและความผิดพลาดในการทำงาน ใช้ในงานทางการแพทย์ ฯลฯ แต่เหรียญมี 2 ด้าน เมื่อเราใช้เอไอมากขึ้น ความมั่นคงในอาชีพก็ตามมา และถึงเอไอจะทำงานได้เร็วไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่ข้อผิดพลาดอย่างไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นได้ ไปจนถึงลดทอนความเป็นมนุษย์ และถูกลากไปเป็นเครื่องมือสร้างอันตรายต่อผู้คน

อย่าง “ดีพเฟก” (Deepfakes) ที่เป็นเทคโนโลยีที่ใช้เอไอสร้างวิดีโอ เสียง และภาพบุคคลสาธารณะ โดยแทนที่ใบหน้าของบุคคลหนึ่งไปเป็นอีกคนหนึ่ง ซึ่งตามข้อมูลของเรียลิตี ดีเฟนเดอร์ (Reality Defender) หนึ่งในบริษัทสตาร์ตอัพที่กำลังพัฒนาเครื่องมือเพื่อพยายามตรวจจับ “ดีพเฟก” และเนื้อหาอื่นๆ ที่สร้างโดยเอไอ ระบุว่าในปี 2566 วิดีโอปลอมที่สร้างโดยใช้ “ดีพเฟก” เพิ่มขึ้นถึง 900% ผู้คนใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อความบันเทิง ด้วยการแปะใบหน้าของคนดังที่พวกเขาชื่นชอบมาแทนที่ใบหน้าของตน หรือเลียนแบบเสียงของบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่างง่ายดาย ซึ่งจากที่เคยเป็นเรื่องทำเล่นกันสนุกๆ ตอนนี้ถูกผู้ไม่หวังดีนำไปใช้เพื่อก่ออาชญากรรมโลกไซเบอร์

เช่นกรณีของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ศิลปินดังก้องโลก ที่ถูกทำภาพปลอมลามกอนาจาร หรือเจ้าพ่อเทสลา อีลอน มัสก์ เพิ่งเป็นข่าวไปเมื่อไม่กี่วันนี้ โดยสาวเกาหลีใต้รายหนึ่งยอมเปิดใจผ่านสถานีโทรทัศน์เคบีเอสในประเทศ ว่า เจ้าหล่อนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ ที่วิดีโอคอลปลอมใบหน้า มัสก์ มาลวงให้รักและชวนให้ลงทุนจนสูญเงินไปเกือบ 19 ล้านบาท ซึ่งในปี 2567 นี้มีการเลือกตั้งแทบจะทั่วโลก ทำให้กังวลถึงความเสี่ยงที่อนาคตของระบอบประชาธิปไตยจะถูกรบกวนจากข่าวปลอม ที่มีจุดมุ่งหมายให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าใจผิด

...

ทั้งนี้เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมามีบริษัท 20 แห่งนำโดยบิ๊กเทค อะโดบี, ไมโครซอฟท์, กูเกิล, เมตา เจ้าของเฟซบุ๊ก และโอเพน เอไอ ได้ลงนามใน “เทค แอคคอร์ด” (Tech Accord) สัญญาจะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างเครื่องมือ เช่น ลายน้ำ เทคนิคการตรวจจับร่องรอยการปลอมแปลงและลบล้าง “ดีพเฟก”

ส่วนขอบเขตทางจริยธรรมในการใช้ “ดีพเฟก” อยู่ตรงไหน? ยังเป็นสิ่งที่ต้องถกกัน!

ภัค เศารยะ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม