ศุกร์วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่ผมจะเขียนถึงการเดินทางไปดูงานและเจรจากับโรงงานไม้ทั้ง 6 แห่งใน 4 เมืองของไซบีเรียคืออีร์คุทสค์ บราทสค์ ครัสโนยาสค์ และบาร์นาอูล คนที่ติดตามบทความในคอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลก หน้า 2 นสพ.ไทยรัฐ และไลน์ไอดี@ntp59 บางท่านสนใจที่จะให้บุตรหลานไปเรียนที่ภูมิภาคไซบีเรีย เพื่อให้ได้ภาษารัสเซียและสร้างความคุ้นเคยกับภูมิภาคนี้

ผมจึงฝากคุณศิรธันย์ แสงสินธุศร (กอล์ฟ) วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยในเมืองซามาราของสหพันธรัฐรัสเซียว่า ถ้าจะแนะนำให้นักเรียนมาเรียน ควรให้พ่อแม่และตัวนักเรียนมาดูมหาวิทยาลัย ให้ได้พูดคุยกับอธิการบดีและอาจารย์ ได้เห็นห้องพัก ด้วยตัวเองเสียก่อน เมื่อเดินทางมาเรียนแล้วจะได้ไม่ตกใจ เพราะสภาพแวดล้อมของไซบีเรียต่างจากเมืองไทยบ้านเรามาก วัฒนธรรมประเพณีต่างๆก็ต่างกัน

ตั้งแต่ไปเรียนที่รัสเซียเมื่อ 30 ปีก่อน คุณศิรธันย์ทำงานที่เกี่ยวดองหนองยุ่งกับชาวรัสเซียมาโดยตลอด จึงมีความชำนาญในประเทศนี้ดีพอสมควร ผมถามคุณศิรธันย์ว่า ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยใดบ้างในไซบีเรียที่พร้อมจะรับคณะจากไทยไปดูงาน คุณศิรธันย์ตอบว่ามีมหาวิทยาลัยไบคาล (Baikal State University) มหาวิทยาลัยกสิกรรมแห่งครัสโนยาสค์ (Krasnoyarsk State Agrarian University) มหาวิทยาลัยโนโวซีบีสค์ (Novosibirsk State University) มหาวิทยาลัยตูย์เมน (The State University of Tyumen) และมหาวิทยาลัยอูราล (Ural Federal University)

ไซบีเรียเป็นดินแดนที่มีทรัพยากรมาก เป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก มากถึง 13.1 ล้านตารางกิโลเมตร (แค่ภูมิภาคเดียวมีพื้นที่ใหญ่กว่าสหรัฐฯ แคนาดา จีน หรืออินเดียทั้งประเทศ) พื้นที่ป่าไม้มีมากกว่า 1 ใน 5 ของป่าไม้ทั้งหมดบนโลกใบนี้ การสำรวจจากดาวเทียมพบว่า พื้นที่ป่าไม้รัสเซียมีมากถึง 763.5 ล้านเฮกตาร์ หรือ 4.7 พันล้านไร่

...

แต่ประชากรของไซบีเรียแค่ 33 ล้านคน มีไม่เพียงพอต่อการเข้าไปพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างมากมายมหาศาล ไม่ว่าป่าไม้ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุ ฯลฯ การที่มีนักเรียนไทยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในไซบีเรีย จะช่วยให้การเชื่อมกันระหว่างไทยกับรัสเซียดียิ่งขึ้น ไทยต้องการทรัพยากรหลายอย่างจากไซบีเรีย และทุกเมืองในไซบีเรียก็ต้องการอาหารการกินจากไทย ที่เด่นที่สุดของไทยในสายตาคนรัสเซียก็คือ ‘ทรัพยากรการท่องเที่ยว’ และ ‘ความชำนาญในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว’ ความใฝ่ฝันปรารถนาของชาวรัสเซียคือการได้มาเยือนเมืองไทย

คุยกับคนรัสเซียระดับกลางขึ้นไป ส่วนใหญ่เคยมาเมืองไทยกันคนละหลายครั้ง มาเมืองไทยแล้วก็ไม่อยากเดินทางไปพักผ่อนยังประเทศอื่น ติดใจไทยเพราะเมืองไทยมีอาหารอร่อย ทะเลสวย ผู้คนอัธยาศัยไมตรีดี ยิ้มแย้มแจ่มใสและให้เกียรติคนต่างชาติ ผมไปตระเวนไซบีเรียมา 12 วันในครั้งนี้ พอบอกว่ามาจากไทยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นทุกแห่ง

คุณศิรธันย์ต้องการผู้ร่วมงานชาวไทยที่พูดภาษารัสเซียได้ และคุ้นเคยกับภูมิภาคไซบีเรีย ประกาศรับสมัครไปหลายครั้ง แต่ไม่มีคนมาสมัคร เขียนอย่างไม่อ้อมค้อมก็คือประเทศของเราขาดทรัพยากรมนุษย์ผู้ชำนาญเรื่องไซบีเรีย ขณะที่คนไซบีเรียจำนวนไม่น้อยรู้จักประเทศของเราดีพอสมควร นี่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คุณศิรธันย์ต้องเชิญคนไปดูมหาวิทยาลัย ดูทั้งสถานที่และหลักสูตรการเรียนการสอน

เราได้พบกับคนรัสเซียคนหนึ่งที่ส่งยาสีฟันที่ใช้สมุนไพรจากประเทศไทยเข้าไปตลาดรัสเซียครั้งละหลายตู้คอนเทนเนอร์ นอกจากนั้นก็ยังส่งด้านอาหารการกิน ยิ่งสงครามรัสเซีย-อูเครนเกิดขึ้นยาว และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย สหรัฐฯ และชาติต่างๆในยุโรปทำให้รัสเซียโดนแซงก์ชั่น ก็เป็นจังหวะดีที่สุดของไทยที่จะติดต่อค้าขายกับรัสเซีย

คู่แข่งจากอาเซียนก็คือคนเวียดนาม คนเวียดนามมาอาศัยอยู่ในแผ่นดินรัสเซียจำนวนไม่น้อย จนเราได้ยินคำบ่นจากคนรัสเซียบ่อยๆเรื่องการมีคนเวียดนามในประเทศมากเกินไป มาทำการค้าขายอย่างถูกต้องบ้าง ไม่ถูกต้องบ้าง เท่าที่สังเกตทัศนคติของคนรัสเซียที่มีต่อคนอาเซียน คนรัสเซียชอบคนไทยและประเทศไทยมากที่สุด.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม