การย้อนสืบค้นการเดินทางของบรรพบุรุษมนุษย์ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งที่จะทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดเดาได้ดีที่สุดคือการทำแบบจำลอง และสร้างทฤษฎีที่ชื่อ “ออกจากแอฟริกา” (Out of Africa) นำเสนอว่าการขยายตัวของมนุษย์กลุ่มโฮโมเซเปียนส์ไปทั่วโลก เริ่มต้นเมื่อราว 70,000 ปีที่แล้ว โดยเดินทางจากทวีปแอฟริกากระจายไปสู่ยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย และอเมริกา แต่อะไรเกิดขึ้นหลังจากออกจากแอฟริกา? นั่นยังเป็นข้อสงสัย
ล่าสุดทีมวิจัยนำโดยนักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยปาโดวา อิตาลี มหาวิทยาลัยไมนซ์ เยอรมนี และนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ออสเตรเลีย เผยได้ใช้หลักฐานทางพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอมนุษย์ยุคปัจจุบัน และดีเอ็นเอโบราณจากเศษกระดูกอายุ 40,000 ปีของซากมนุษย์ “เทียนหยวน” (Tianyuan) ที่พบใกล้กรุงปักกิ่ง ของจีน และซากกระดูกอายุ 38,000 ปีจากแหล่งโบราณคดีคอสเทนกี (Kostenki) ทางตะวันตกของรัสเซีย มาผสมผสานทำแบบจำลองทางพันธุกรรมและนิเวศวิทยาบรรพกาล ทำให้ทำนายสถานที่ที่ประชากรมนุษย์ยุคแรกอาศัยอยู่เป็นครั้งแรกทันทีที่พวกเขาออกจากแอฟริกา โดยระบุว่าพื้นที่รอบๆ อิหร่านในปัจจุบัน และตะวันออกเฉียงใต้ของอิรัก รวมถึงตะวันออกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบียเคยเป็นศูนย์กลางที่สำคัญที่พวกเขาดำรงชีวิตอยู่นานหลายพันปี ก่อนออกเดินทางไปตั้งถิ่นฐานในเอเชียและยุโรป โดยเริ่มต้นเมื่อประมาณ 45,000 ปีก่อน
ทีมวิจัยยังระบุว่า มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่อาศัยอยู่ในดินแดนใจกลาง หรือตรงราบสูงเปอร์เซียในเวลานั้น มีผิวสีเข้ม เส้นผมสีเข้ม บางทีอาจคล้ายกับชาวกูมุซ (Gumuz) หรือชาวอานุอัก (Anuak) ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในบางส่วนของแอฟริกาตะวันออก.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่
...