ทีมนักวิจัยของประเทศจีน โคลนนิ่งลิงวอกสำหรับเป็นครั้งแรก หวังใช้เพิ่มความเร็วในการวิจัยยาต่างๆ ท่ามกลางความกังวลของกลุ่มสวัสดิภาพสัตว์
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นักวิจัยในประเทศจีนดำเนินการโคลนนิ่งลิงวอก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ถูกใช้ในการวิจัยทางการแพทย์ ได้สำเร็จเป็นตัวแรก โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความเร็วในการทดสอบยาต่างๆ เนื่องจากลิงวอกมีลักษณะคล้ายมนุษย์ในเชิงสรีรศาสตร์ ซึ่งจะทำให้ความแน่นอนในการทดสอบมากขึ้นกว่าเดิม
ทั้งนี้ สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ (sexual reproduction) นำไปสู่การกำเนิดลูกหลานด้วยการผสมยีนจากพ่อและแม่ แต่การโคลนนิ่งนั้น เป็นเทคนิคที่ใช้การสร้างสัตว์ที่มียีนเหมือนกันขึ้นมา
แนวคิดเรื่องการโคลนนิ่งสัตว์เพื่อนำมาใช้ในการทดลองเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวงการวิทยาศาสตร์มาตลอด โดยสัตว์โคลนนิ่งที่โด่งดังที่สุดคือแกะชื่อ ‘ดอลลี่’ ถูกสร้างขึ้นในปี 2539 โดยนักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีเปลี่ยนแปลงเซลล์จากแกะอีกตัวให้เป็นตัวอ่อน เป็นก้อนเซลล์ที่สามารถเติบโตในส่วนใดของสิ่งมีชีวิตก็ได้ แล้วนำไปปลูกถ่ายในแม่อุ้มบุญของดอลลี่
นักวิทยาศาสตร์เคยพยายามโคลนนิ่งลิงวอกมาก่อนแต่มักไปไม่ถึงขั้นการเกิด หรือหากเกิดออกมา ลูกลิงก็มีชีวิตอยู่ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เปิดเผยผ่านวารสาร ‘Nature Communication’ นักวิจัยจีนระบุว่า พวกเขาใช้วิธีการคล้ายกับกรณีของดอลลี่ในการสร้างลิงวอกตัวดังกล่าว แต่ลิงที่ถูกสร้างขึ้นมีสุขภาพแข็งแรงมานานกว่า 2 ปี บ่งชี้ว่า กระบวนการโคลนนิ่งประสบความสำเร็จ และพวกเขาตั้งชื่อลิงตัวนี้ว่า ‘รีโทร’ (ReTro) ตามชื่อวิธีที่ใช้ในการโคลนนิ่ง
ดร. หลู่ ฟาหลง จากมหาวิทยาลัยสถาบันวิทยาศาสตร์จีน บอกกับสำนักข่าว บีบีซี ว่า ทุกคนมีความสุขกับผลสำเร็จที่ออกมา
...
แต่โฆษกของราชสมาคมเพื่อการป้องกันความโหดร้ายต่อสัตว์ (RSPCA) ของสหราชอาณาจักร ออกมาแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อข่าวนี้ โดยระบุว่า องค์กรของพวกเขาเชื่อว่า ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นต่อสัตว์มีน้ำหนักมากกว่า ผลประโยชน์อย่างปัจจุบันทันด่วนใดๆ ต่อคนไข้มนุษย์
อนึ่ง ปัญหาในวิธีการโคลนนิ่งด้วยการเปลี่ยนแปลงเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวัยผู้ใหญ่เป็นตัวอ่อนคือ มักเกิดความผิดพลาดระหว่างการเปลี่ยนแปลงเซลล์ และมีสัตว์โคลนนิ่งน้อยมากที่เกิดมาแข็งแรง โดยอัตราอยู่ที่ระหว่าง 1% ถึง 3% เท่านั้น และยากขึ้นไปอีกในกรณีของลิงวอก ซึ่งโคลนนิ่งไม่สำเร็จเลยจนกระทั่งทีมจีนทำได้เมื่อ 2 ปีก่อน
ทีมวิจัยของจีนระบุว่า พวกเขาใช้ตัวอ่อน 113 ตัว โดย 11 ตัวในจำนวนนี้ถูกนำไปปลูกถ่าย ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ 2 กรณี และลูกลิงเกิดออกมามีชีวิตเพียง 1 กรณีเท่านั้น
RSPCA ระบุว่า พวกเขากังวลอย่างยิ่งที่มีสัตว์จำนวนมากต้องทุกข์ทรมานและเจ็บปวดในการทดลองเหล่านี้ ซึ่งมีโอกาสสำเร็จต่ำมาก “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาและความรู้สึก ไม่ใช่แค่เครื่องมือการวิจัย”
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : bbc