สหประชาชาติเผย ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกในปี 2565 เพิ่มขึ้นจนทำสถิติใหม่ ชี้โลกยังคงมุ่งหน้าไปยังทิศทางที่ผิด และจะต้องลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ของสหประชาชาติแถลงวานนี้ (15 พ.ย.) ระบุว่า ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกหลัก 3 ชนิด ประกอบด้วย คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ ในชั้นบรรยากาศโลกในปี 2565 ได้เพิ่มสูงขึ้นและทำสถิติใหม่ ส่งให้สภาพอากาศทั่วโลกแปรปรวนอย่างหนัก 

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก กล่าวว่า ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกในปีที่ผ่านมาสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 50% ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ที่น่ากังวล ขณะที่ก๊าซชนิดอื่นๆ เช่น มีเทน และไนตรัสออกไซด์ ก็พุ่งแตะระดับสูงสุดใหม่เช่นกัน

เพตเตรี ทาลาส เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ระบุว่า ด้วยระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน ทำให้มีโอกาสสูงที่จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีสที่ต้องการจำกัดภาวะโลกร้อนไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมภายในสิ้นศตวรรษนี้ได้ 

“แม้จะมีคำเตือนมากมายมานานหลายทศวรรษจากทั้งนักวิทยาศาสตร์ ผลการศึกษาต่างๆ และการประชุมเรื่องสภาพอากาศนับครั้งไม่ถ้วน แต่ดูเหมือนว่าทั่วโลกจะมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ผิด” ทาลาสกล่าว 

ก๊าซเรือนกระจกทำให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อน ปริมาณน้ำฝน น้ำแข็งละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และความร้อนและความเป็นกรดของมหาสมุทร

โดยรายงานขององค์การอุตุนิยมฯ เปิดเผยว่า ประมาณ 80% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากกลุ่ม G20 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก

...

อนึ่ง การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 มีกำหนดจัดขึ้นในนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-12 ธ.ค. 2566 โดยมีการคาดการณ์ว่าวาระที่จะถูกผลักดันเป็นพิเศษ คือการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิสก่อนปี 2593 แต่จนถึงขณะนี้ ประเทศที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมากยังไม่ประสบความสำเร็จในการลดการใช้เชื้อเพลิงได้อย่างมีนัยสำคัญ

ติดตามข่าวต่างประเทศได้ที่ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : Aljazeera