นักแผ่นดินไหววิทยายอมรับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ว่ามีวัตถุลึกลับก้อนขนาดเท่า 2 ทวีปฝังอยู่ในส่วนที่ลึกที่สุดของเนื้อโลก ก้อนหนึ่งอยู่ใต้ทวีปแอฟริกา อีกก้อนอยู่ใต้ภูมิภาคแปซิฟิกใต้ ก้อนวัตถุเหล่านี้มีความหนาแน่นมากกว่าวัตถุที่อยู่รอบๆ อาจเป็นวัตถุจากความหายนะในช่วงแรกของประวัติศาสตร์โลก สันนิษฐานว่าเป็นผลจากการชนกันระหว่างโลกกับวัตถุขนาดเท่าดาวอังคารที่เรียกว่าธีอา (Theia) เมื่อครั้งดึกดำบรรพ์

มีการวิจัยก่อนหน้านี้ระบุว่า การชนครั้งใหญ่ครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อ 4,460 ล้านปีก่อน แรงระเบิดทำให้หินหลอมเหลวกระเด็นขึ้นสู่อวกาศ ไปโคจรรอบโลกจนกระทั่งรวมตัวกันเป็นดวงจันทร์ในเวลาต่อมา แต่ก้อนของธีอาอาจยังคงอยู่ในโลก โดยจมลงสู่ตำแหน่งเหนือแกนกลางทรงกลมที่ร้อนแรงของโลกที่ประกอบด้วยธาตุเหล็กและนิกเกิล ล่าสุดนักธรณีวิทยาจากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย หรือแคลเทค ในสหรัฐอเมริกา และนักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จากหอดูดาวเซี่ยงไฮ้ แห่งสภาวิทยาศาสตร์จีน เผยว่าได้จำลองด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ชนในอดีตครั้งนั้น สร้างคุณสมบัติทางธรณีฟิสิกส์ของวัสดุที่อาจประกอบขึ้นเป็นธีอาและวิวัฒนาการของเนื้อโลก ซึ่งเป็นชั้นที่กว้างที่สุดภายในโครงสร้างโลก มีความหนาประมาณ 2,900 กิโลเมตร

...

ผลการจำลองทำให้นักธรณีวิทยานำเสนอว่าส่วนใหญ่ของธีอาถูกดูดกลืนเข้าสู่โลกและก่อตัวเป็นก้อนเล็กๆอยู่ลึกลงไป 2,900 กิโลเมตร ก้อนธีอาทั้ง 2 แห่งมีมวลประมาณ 2% ของมวลโลก ซึ่งนับว่าเหลือเชื่อมากที่สามารถค้นพบวัตถุโบราณของดาวเคราะห์ดวงอื่น หากขุดลึกลงไปในเนื้อโลกได้ลึกมากพอ.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่