ในชีวิตคนเราอาจประสบกับอาการเป็นลมหมดสติได้ มีการวิจัยก่อนหน้านี้เผยว่า ผู้คนเกือบ 40% มีอาการเป็นลมหมดสติหรือเป็นลมอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต การสูญเสียสติในช่วงระยะเวลาสั้นๆแบบนี้อาจเกิดจากความเจ็บปวด ความกลัว ความร้อน หายใจเร็วเกินไป ฯลฯ สถานการณ์พวกนี้เป็นสาเหตุสำคัญในการเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล แต่กลไกแท้จริงที่เกิดขึ้นเมื่อผู้คนหมดสติยังคงเป็นปริศนา

ล่าสุดทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ในสหรัฐอเมริกา สถาบันวิจัยสคริพพ์ส และอีกหลายสถาบัน เผยพบความเชื่อมโยงระหว่างสมองและหัวใจที่เกี่ยวข้องกับการเป็นลมหมดสติ ทีมเผยว่าให้ลองคิดว่าหัวใจเป็นอวัยวะรับความรู้สึก แทนที่จะยึดติดกับมุมมองที่มีมายาวนานว่าสมองส่งสัญญาณออกไป และหัวใจก็ทำตามคำสั่ง ซึ่งสิ่งที่ทีมค้นพบใหม่ก็คือ หัวใจยังส่งสัญญาณกลับไปยังสมองด้วย และสามารถเปลี่ยนการทำงานของสมองได้ ผลลัพธ์นี้ได้จากการที่นักวิจัยมุ่งเน้นศึกษาพันธุกรรมที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มประสาทสัมผัสที่เรียกว่า nodose ganglia ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นประสาทเวกัส (vagus nerve) ที่ส่งสัญญาณระหว่างสมองและอวัยวะภายในรวมถึงหัวใจ

นักวิจัยมองว่าการศึกษานี้เป็นการสาธิตที่ครอบคลุมครั้งแรกเกี่ยวกับปฏิกิริยาสะท้อนการเต้นของหัวใจที่กำหนดโดยพันธุกรรม จนสรุปลักษณะอาการหมดสติของมนุษย์ในระดับเครือข่ายทางสรีรวิทยา พฤติกรรม และระบบประสาท ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยนี้อาจช่วยให้ความเข้าใจที่ดีขึ้นและการรักษาความผิดปกติทางจิตเวชและระบบประสาทต่างๆที่เชื่อมโยงกับการเชื่อมต่อของสมองและหัวใจ.

Credit : Augustine Lab, UC San Diego

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่

...