เป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าภาพของโลกในยุคดึกดำบรรพ์นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร ก่อนที่ความเหน็บหนาวและน้ำแข็งจะเข้ามาปกคลุม เชื่อกันว่าอาจมีสภาพอากาศที่แตกต่างจากสภาพอากาศในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การศึกษาเพื่อสร้างภาพในอดีตขึ้นมาใหม่ ก็ขึ้นอยู่กับนักวิจัยว่าได้ย้อนเวลากลับไปนานเพียงใด

ล่าสุด มีงานศึกษาใหม่ของทีมวิจัยนำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาน้ำแข็งและธารน้ำแข็ง แห่งมหาวิทยาลัยเดอรัมในอังกฤษ เผยว่า จากการสำรวจด้วยดาวเทียมและอุปกรณ์เรดาร์เจาะน้ำแข็ง ทำให้นักวิทยาศาสตร์มองเห็นโลกในวันวานที่สาบสูญไปแล้วของทวีปแอนตาร์กติกา โดยระบุว่า ภูมิประเทศโบราณอันกว้างใหญ่ที่ถูกฝังอยู่ใต้แผ่นน้ำแข็งของทวีปแห่งนี้ เต็มไปด้วยหุบเขาและแนวสันเขาซึ่งดูเหมือนเกิดจากแม่น้ำ ก่อนที่จะถูกน้ำแข็งคืบคลานปกคลุมในเวลาต่อมา โดยตั้งอยู่ในภูมิภาควิลค์สแลนด์ ทางตะวันออกของแอนตาร์กติกา มีพรมแดนติดมหาสมุทรอินเดีย ครอบคลุมพื้นที่เทียบเท่าเบลเยียม หรือรัฐแมรีแลนด์ในสหรัฐฯ ทีมวิจัยระบุว่า ภูมิประเทศนี้น่าจะมีอายุอย่างน้อย 14 ล้านปี หรือไม่ก็อาจเกิน 34 ล้านปี ซึ่งเป็นช่วงที่ทวีปแอนตาร์กติกาเดินทางเข้าสู่ยุคถูกแช่เย็น มีอุณหภูมิที่ต่ำมาก

ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าสภาพแวดล้อมดังกล่าวน่าจะมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ แม้ว่าหลักฐานพวกซากฟอสซิลของภูมิภาคนี้จะไม่สมบูรณ์ จนไม่อาจระบุว่าสัตว์ชนิดใดอาจอาศัยอยู่ในพื้นที่เมื่อครั้งดึกดำบรรพ์ และยังพบว่าน้ำแข็งที่ห่มคลุมภูมิประเทศโบราณแถบนี้ ความหนาประมาณ 2.2-3 กิโลเมตร.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่