นักวิทยาศาสตร์เตือน ธารน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์กำลังหดตัวลงอย่างรวดเร็ว โดยหายไปแล้ว 10% ภายในระยะเวลาแค่ 2 ปี หวั่นสร้างปัญหาหลายอย่างในอนาคต

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ก.ค. 2566 คณะกรรมการสังเกตการณ์หิมะภาค แห่งวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สวิตเซอร์แลนด์ เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ ระบุว่า ธารน้ำแข็งในประเทศกำลังหดตัวอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำแข็งหายไปแล้วทั้งสิ้น 10% อันเป็นผลจากหิมะตกน้อย และอุณหภูมิสูงขึ้นจนเกิดการละลายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

รายงานระบุว่า ในปี 2566 ธารน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์หดตัวลง 4% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดอันดับที่ 2 รองจากในปี 2565 ที่ธารน้ำแข็งถูกทำลายไป 6% และเมื่อนำ 2 ปีนี้มารวมกันจะเท่ากับว่า สวิตเซอร์แลนด์เสียน้ำแข็งในเวลาแค่ 2 ปี เท่ากับธารน้ำแข็งที่หายไปในช่วง 3 ทศวรรษระหว่างปี 2503-2533

“การสูญเสียที่เราเห็นในปี 2565 และ 2566 นั้นน่าตกใจมากกว่าอะไรที่เราเคยประสบมาจนถึงตอนนี้” นายแมทเธียส ฮุส หัวหน้าเครือข่ายสังเกตการณ์ธารน้ำแข็ง (GLAMOS) วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สวิสกล่าว “แม้ว่าธารน้ำแข็งจะสูญเสียมวลไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วมาหลายทศวรรษ แต่นี่มันเร็วขึ้นมหาศาล”

การหดหายของธารน้ำแข็งในช่วง 2 ปีดังกล่าว ทำให้ ‘ลิ้นธารน้ำแข็ง’ (glacier tongue) หรือส่วนปลายสุดของธารน้ำแข็งที่มีลักษณะยื่นออกไปในทะเล พังทลายไปหลายแห่ง และธารน้ำแข็งขนาดเล็กในสวิตเซอร์แลนด์ก็ละลายหลายไปมากมาย เช่นธารน้ำแข็ง เซนต์ อันนาเฟิร์น ตอนกลางของประเทศ ซึ่งน้ำแข็งหดตัวมากจน GLAMOS ไม่มีอะไรให้สังเกตการณ์

การสูญเสียน้ำแข็งยังเกิดขึ้นในพื้นที่สูง ซึ่งตามปกติไม่เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วย น้ำแข็งในรัฐวาเล (Valais) และบริเวณหุบเขา ‘เองกาดีน’ (Engadin) ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 3,200 เมตร ยังหายไปหลายเมตร

...

ภาพเปรียบเทียบธารน้ำแข็งโรน (Rhone Glacier) ในเดือนกรกฎาคม 2558 (บน) กับเดือนสิงหาคม 2566 (ล่าง) ที่ผ่านมา
ภาพเปรียบเทียบธารน้ำแข็งโรน (Rhone Glacier) ในเดือนกรกฎาคม 2558 (บน) กับเดือนสิงหาคม 2566 (ล่าง) ที่ผ่านมา

การสูญเสียน้ำแข็งดังกล่าว ซึ่งกระทบต่อธารน้ำแข็งทั่วสวิตเซอร์แลนด์ เกิดขึ้นหลังจากพวกเขามีฤดูหนาวที่หิมะตกน้อยมาก ระดับของหิมะในช่วงครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นับว่าต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ราว 30% ของค่าเฉลี่ยความลึกของหิมะที่ปกคลุมระยะยาวเท่านั้น

ต่อมา สวิตเซอร์แลนด์ยังต้องเจอกับฤดูร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่าปกติ อากาศที่ร้อนและแห้งในเดือนมิถุนายนหมายความว่า หิมะจะเริ่มละลายเร็วกว่าปกติ 2-4 สัปดาห์ อุณหภูมิที่สูงยังต่อเนื่องมาจนถึงเดือนกันยายน ซึ่งทำให้หิมะที่ตกในฤดูร้อนละลายเร็วขึ้นด้วย

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บอลลูนสภาพอากาศของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งสวิตเซอร์แลนด์ ต้องใต้ระดับขึ้นไปที่ความสูงถึง 5,298 ม.กว่าอุณหภูมิจะตกลงไปอยู่ที่ 0 องศาเซลเซียส นับเป็นจุดสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึกสถิติมา

นายฮุสระบุว่า การสูญเสียน้ำแข็งจำนวนมากในช่วง 2 ปีนี้ หมายความว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศในพื้นที่สูงของเทือกเขาแอลป์อย่างมีนัยสำคัญ สร้างสถานการณ์อันตรายให้แก่นักปีนเขา ด้วยหินที่ไม่มั่นคง เสี่ยงต่อการเกิดหินถล่ม นอกจากนั้นธารน้ำแข็งยังจะหดตัวต่อไปเรื่อยๆ จนไปถึงยอดเขาที่สูงที่สุด

ขณะที่ข้อดีก็มีเช่นกันคือ น้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็งสามารถช่วยบรรเทาภัยแล้งในประเทศ และเติมน้ำในเขื่อนได้ แต่นายฮุสเตือนว่า นี่เป็นเพียงข้อดีระยะสั้นและชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อธารน้ำแข็งหดตัวลงเรื่อยๆ มันก็จะค่อยๆ สูญเสียบทบาทสำคัญของมันในฐานะผู้ผลิตน้ำในตอนที่ประชาชนต้องการใช้ และจะทำให้การขาดแคลนน้ำขณะเผชิญคลื่นความร้อนในอนาคตอันใกล้นี้ รุนแรงขึ้น

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : cnn