ปัญหาไมโครพลาสติกปนเปื้อนรอบตัวไม่ได้หยุดอยู่แค่ในอาหารและน้ำดื่มของคนเราเท่านั้น ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นระบุ พบไมโครพลาสติกแม้แต่ในก้อนเมฆด้วย

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Environmental Chemistry Letters เปิดเผยว่า จากการที่นักวิจัยขึ้นไปเก็บตัวอย่างน้ำจากหมอกที่ปกคลุมบนยอดเขาฟูจิ และภูเขาโอยามะ และใช้เทคนิคล้ำสมัยเพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบทางกายภาพ และทางเคมีของน้ำตัวอย่าง พบว่า มีโพลิเมอร์ถึง 9 ชนิดปะปนอยู่ และมียางอีก 1 ชนิด รวมกันเป็นไมโครพลาสติกในอากาศ โดยมีขนาดตั้งแต่ 7.1 - 94.6 ไมโครเมตร โดยในปริมาณน้ำ 1 ลิตร จะมีชิ้นส่วนพลาสติกอยู่ด้วยถึง 6.7-13.9 ชิ้น

ซึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือการที่มีโพลิเมอร์ปะปนอยู่ในก้อนเมฆ อาจจะมีบทบาทสำคัญในการทำให้เมฆก่อตัวรวดเร็วมากขึ้น และส่งผลต่อระบบสภาพอากาศด้วย

ฮิโรชิ โอโกชิ แห่งมหาวิทยาลัยวาเซดะ ผู้นำทีมวิจัยที่เขียนรายงานเรื่องนี้ระบุว่า หากปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศจากพลาสติก ยังไม่ได้รับความสนใจและเร่งแก้ไข สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และความเสี่ยงต่อระบบนิเวศวิทยาจะกลายเป็นจริง ส่งผลให้เกิดหายนะทางสภาพแวดล้อมในอนาคต

...

โดยเมื่อไมโครพลาสติกขึ้นไปถึงบรรยากาศชั้นบนและสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์ ไมโครพลาสติกจะสลายตัวและก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอีก

ทั้งนี้ ไมโครพลาสติก หมายถึง พลาสติกที่มีอนุภาคน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร ที่แพร่กระจายมาจากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงทอผ้า การทำยางรถยนต์สังเคราะห์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมาย โดยก่อนหน้านี้มีการพบไมโครพลาสติกในปลาน้ำลึกในทะเลอาร์กติกที่ปกคุลมไปด้วยน้ำแข็ง และยังพบปะปนอยู่ในหิมะบนยอดเขาพิเรนีสที่ตั้งอยู่ระหว่างฝรั่งเศสและสเปนด้วย โดยยังไม่มีใครทราบว่าไมโครพลาสติกเคลื่อนตัวไปถึงพื้นที่ห่างไกลผู้คนดังกล่าวได้อย่างไร แต่การวิจัยครั้งล่าสุดนี้เป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ยืนยันการพบไมโครพลาสติกในก้อนเมฆ ซึ่งไมโครพลาสติกหากสะสมในร่างกายมนุษย์จะส่งผลต่อหัวใจ ปอด และอาจเชื่อมโยงกับการเกิดโรคมะเร็ง และจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย.

คลิกอ่านข่าวเกี่ยวกับ "ไมโครพลาสติก"