องค์ประกอบทางเคมีของเหงื่อของมนุษย์ เป็นตัวที่บอกอะไรมากมายเกี่ยวกับสุขภาพ แต่การรวบรวมเหงื่อมาวิเคราะห์อาจเป็นเรื่องยุ่งยาก เนื่องจากอุปกรณ์ที่สวมใส่บนผิวหนังในปัจจุบัน ดูจะไม่ได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของอัตราการขับเหงื่อตลอดทั้งวัน ในขณะที่คนเราทำกิจกรรมต่างๆ อีกทั้งวงจรนาฬิกาชีวภาพในร่างกาย ยังทำให้การรู้ว่าเก็บตัวอย่างเหงื่อตอนไหนถึงสำคัญ เช่น คอร์ติซอล (Cortisol) ที่เป็นฮอร์โมนความเครียดตัวหลักของร่างกาย ถือเป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพที่สามารถวัดระดับความเครียดได้ ซึ่งระดับคอร์ติซอลจะสูงในตอนเช้าและลดลงในช่วงบ่าย

เมื่อเร็วๆนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบิงแฮมตัน ในสหรัฐอเมริกา เผยว่าได้พัฒนาวิธีการที่ดีกว่าในการรวบรวมเหงื่อในช่วงเวลาที่กำหนด และแม่นยำยิ่งขึ้น ด้วยการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสําหรับจัดการกับของเหลวปริมาตรน้อยมาก ให้รวบรวมเหงื่อตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ตามลำดับเวลา อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นี้จะยึดติดกับผิวหนังเหมือนแผ่นแปะ ผู้คนสามารถสวมใส่ในตอนเช้าเพื่อสะสมเหงื่อได้ตลอดทั้งวัน

การเก็บเหงื่อที่ดีกว่าเดิมนี้ เชื่อว่าจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่สำคัญ ที่เชื่อมโยงกับสภาวะการอักเสบในร่างกาย เช่น โปรตีน tumor necrosis factor alpha (TNF-a) มีบทบาทสำคัญในกระบวนการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือการตอบสนองต่อความเครียด เช่น คอร์ติซอล และแคทีโคลามีน (Catecholamine).

Credit : Binghamton University