ทีม iRAP ROBOT มจพ. คว้าแชมป์โลกรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก “World Robo Cup Rescue 2023” ที่มีทีมหุ่นยนต์จากทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขัน 17 ทีม เป็นแชมป์โลกสมัยที่ 9 พร้อมรับอีก 2 รางวัล รางวัลนวัตกรรมสมรรถนะการขับเคลื่อนหุ่นยนต์ยอดเยี่ยมระดับโลกและรางวัลการทำแผนที่ยอดเยี่ยมระดับโลก

นักศึกษาไทยไปสร้างชื่อให้ประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 10 ก.ค .ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีม iRAP ROBOT นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ตัวแทนจากประเทศไทยคว้าแชมป์โลกรางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก “World RoboCup Rescue 2023” และอีก 2 รางวัล ได้แก่ BEST IN CLASS MOBILITY (รางวัลนวัตกรรมสมรรถนะการขับเคลื่อนหุ่นยนต์ยอดเยี่ยมระดับโลก) และ BEST IN CLASS MAPPING (รางวัลการทำแผนที่ยอดเยี่ยมระดับโลก) จัดการแข่งขันที่เมืองบอร์กโด ประเทศฝรั่งเศส ประกาศผลการแข่งขัน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 โดยมีทีมหุ่นยนต์เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ จำนวน 17 ทีม จากนานาประเทศทั่วโลก ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน เม็กซิโก เกาหลีใต้ ออสเตรีย ฝรั่งเศส บังกลาเทศ ตุรกีและไทย โดยผลการแข่งขันมีดังนี้ ทีม iRAP ROBOT ตัวแทนจากประเทศไทยได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นแชมป์โลกสมัยที่ 9 รองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม Hector Darmstadt จากประเทศเยอรมนี และรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม Quix จากประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ ทีม iRAP ROBOT มีกำหนดการเดินทางกลับถึงประเทศไทย ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566

การแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก RoboCup 2023 จัดขึ้นที่เมืองบอร์กโด ประเทศฝรั่งเศส จัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 4-10 กรกฎาคม 2566 ประกอบด้วยการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย Rescue หุ่นยนต์ Soccer หุ่นยนต์ HOME หุ่นยนต์ INDUSTRY และอื่นๆ มีทีมหุ่นยนต์กู้ภัยเข้าร่วมจากนานาประเทศทั่วโลก โดยทีม iRAP ROBOT แข่งขันรอบแรก 15 สถานี โดยคัดเลือกคะแนนดีที่สุด 10 สถานี เพื่อผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ มีจำนวน 9 ทีมที่ผ่านเข้ารอบ ประกอบด้วย ไทย เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน ออสเตรีย เกาหลีใต้ และในรอบชิงชนะเลิศมีทีมที่เข้ารอบสุดท้าย ได้แก่ ไทย เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน และทีม iRAP ROBOT ได้คะแนนที่ดีที่สุดใน 5 ทีมสุดท้าย ด้วยคะแนน 695 เปอร์เซ็นต์ ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นแชมป์โลกในครั้งนี้

ทีม iRAP ROBOT ประกอบด้วยนักศึกษาดังนี้ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 1.นายฐิติยศ ประกายธรรม 2.นายภูมิทรรศน์ สังขพันธ์ 3.นายศักดิธัช วินิจสรณ์ บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน 4.นายจิรกานต์ สุขเจริญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ 5.นายชัยพฤกษ์ เลาหะพานิช 6.นายอาทิตย์ นาราเศรษฐกุล 7.นายปียภูมิ ธนวุฒิอนันต์ 8.นายกลย์ภัทร์ บุญเหลือ 9.นายธรณินทร์ อุ่นอารีย์ 10.นายธนกร กุลศรี 11.นายนภดล จำรัสศรี 12.นายเจษฎากร ชัยนราพิพัฒน์ 13.นายภูบดี บุญจริง มีอาจารย์ที่ปรึกษาทีมดังนี้ ผศ.สมชาย เวชกรรม ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ รศ.ดร.ธีรวัช บุณยโสภณ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ อาจารย์ ดร.จิรพันธุ์ อินเทียม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบูรณาการเทคโนโลยี อาจารย์ ดร.อรัญ แบล็ทเลอร์ ผศ.ดร.นพดล พัดชื่น จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ในเวทีการแข่งขันที่มีแต่ประเทศที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี แต่นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ก็สามารถใช้ความพยายามมุ่งมั่นมานะอุตสาหะและมีการทำงานเป็นทีมเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ทำให้สามารถคว้าชัยชนะได้เป็นแชมป์โลกสมัยที่ 9 สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในครั้งนี้ให้เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับในเวทีระดับโลก

...