ในปี พ.ศ.2373 นักบรรพชีวินวิทยาชาวอังกฤษ นาม เฮนรี เดอ ลา เบเช ได้นำเสนอรูปภาพชื่อ “Duria Antiquior” บรรยายถึงมหาสมุทรในมหายุคมีโซโซอิก ซึ่งในบรรดารูปสัตว์ทะเลนานาก็มีรูปสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลคอยาวตัวหนึ่ง ถูกสัตว์ทะเลนักล่าคืออิกทิโอซอรัส (ichthyosaurus) ตัวมหึมากัดคอยาวเฟื้อยของสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลตัวนั้นอยู่ ซึ่งเกือบ 200 ปีที่ผ่านมายังไม่มีหลักฐานโดยตรงเกี่ยวกับการกัดคอของสัตว์ดึกดำบรรพ์เหล่านี้
ล่าสุดนักบรรพชีวินวิทยาแห่งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในเมืองสตุตการ์ต เยอรมนี เผยผลวิจัยซากฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลยุคก่อนประวัติศาสตร์ชื่อ Tanystropheus ที่มีคอยาวมาก มีชีวิตอยู่เมื่อ 242 ล้านปีที่แล้ว ซากนี้ค้นพบบนภูเขาซาน จิออร์จิโอ ในสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อหลายสิบปีก่อน โดยภูเขาแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของทะเลสาบเขตร้อน ส่วนซากฟอสซิลที่ศึกษาคือ Tanystropheus จำนวน 2 ชนิดที่แตกต่างกัน ชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กยาว 1.5 เมตร ส่วนอีกชนิดมีขนาดใหญ่กว่ามากยาวประมาณ 6 เมตร พวกมันเหลือเพียงส่วนหัวเล็กๆ และส่วนของคอยาวเรียวเท่านั้น แต่ไม่ปรากฏร่างกาย ซึ่งการตรวจสอบฟอสซิลสัตว์ตัวใหญ่อย่างละเอียดก็พบรูที่ถูกฟันงับในกระดูกสันหลังตรงจุดที่คอหักอย่างสิ้นเชิง 2 รู เป็นหลักฐานที่แน่ชัดว่ามีสัตว์บางตัวกัดคอของมันขาด
ขณะที่สัตว์เลื้อยคลานตัวเล็กดูเหมือนจะประสบชะตากรรมเดียวกัน เพราะคอและกระดูกซี่โครงคอที่เรียวยาว ซึ่งขนานไปตามแนวกระดูกสันหลังเพื่อให้มีความแข็ง มีการหักเพียงจุดเดียว และพบรูฟันงับขนาดเล็กๆตรงคอ ห่างจากจุดที่คอหัก จัดเป็นตัวอย่างที่น่าทึ่งของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ล่าและเหยื่อเหล่านี้ และพบได้น้อยมากในซากฟอสซิล หลักฐานดังกล่าวจะทำให้เข้าใจได้ว่าสัตว์เหล่านี้อยู่ร่วมกันอย่างไรในอดีต.
...