ญี่ปุ่นรายงานว่าหญิงวัย 70 ปี ในจังหวัดอิบารากิ ซึ่งถูกเห็บกัด เสียชีวิตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเมื่อปีที่แล้ว หลังจากติดเชื้อไวรัสออซ

กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น เปิดเผยว่า หญิงวัย 70 ปี ในจังหวัดอิบารากิ ซึ่งถูกเห็บกัด เสียชีวิตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเมื่อปีที่แล้ว หลังจากติดเชื้อไวรัสออซ (Oz) แม้ว่าจะมีรายงานการติดเชื้อไวรัสที่มีเห็บเป็นพาหะในสัตว์ป่าและมนุษย์หลายครั้ง แต่เชื่อว่านี่จะเป็นกรณีการเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสดังกล่าวเป็นรายแรกของโลก

ตามรายงานของกระทรวงฯ ผู้หญิงคนนี้ซึ่งไม่มีประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ ได้พบแพทย์ที่สถาบันทางการแพทย์เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้วด้วยอาการต่างๆ เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย และปวดข้อ เธอถูกสงสัยว่าเป็นโรคปอดบวม และแพทย์ได้จ่ายยาปฏิชีวนะ แต่อาการของเธอแย่ลง และเธอเข้ารับการรักษาที่ศูนย์การแพทย์สึคุบะ

เมื่อเธอเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล พบว่ามีเห็บแข็งกำลังดูดเลือดอยู่ที่โคนขาขวาของเธอ และเธอเสียชีวิตด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งเป็นอาการอักเสบของหัวใจ ประมาณหนึ่งเดือนต่อมา

จากข้อมูลของสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIID) ไวรัสออซถูกตรวจพบครั้งแรกในปี 2561 ในเห็บแข็งที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า amblyomma testudinarium ในจังหวัดเอฮิเมะ

มีการตรวจพบแอนติบอดีสำหรับไวรัสออซในสัตว์ป่า เช่น ลิงแสมญี่ปุ่น หมูป่า และกวางในจังหวัดชิบะ กิฟุ มิเอะ วากายามะ ยามากูจิ และโออิตะ ข้อมูลจากกระทรวงฯ ระบุว่า ผลการตรวจเลือดของนักล่าสัตว์ 24 คนในจังหวัดยามากูจิ ยังพบว่า 2 คน มีผลตรวจแอนติบอดีของไวรัสออซเป็นบวก ซึ่งบ่งชี้ว่าพวกเขาอาจเคยติดเชื้อมาก่อน และจนถึงขณะนี้ยังไม่พบไวรัสออซนอกประเทศญี่ปุ่น 

ทั้งนี้ เห็บแข็ง ซึ่งมีเกล็ดแข็งและมีขนาดประมาณ 3 ถึง 4 มิลลิเมตร มีความแตกต่างจากเห็บที่มักพบในบ้านและมักพบในป่าและพุ่มไม้

...

ทาดากิ ซูซูกิ ผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิวิทยาการติดเชื้อของ NIID กล่าวว่า เนื่องจากนี่เป็นกรณีการเสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันรายแรก จึงเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินความรุนแรงหรืออันตรายของไวรัส ณ จุดนี้ "กรณีนี้แสดงให้เห็นว่าไวรัสสามารถทำให้เกิดอาการรุนแรงรวมทั้งเสียชีวิตได้ แต่การตรวจพบผู้ที่มีแอนติบอดีในอดีต ยังแสดงให้เห็นว่าบางคนอาจไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย"

กระทรวงฯ ระบุว่า ข้อควรระวังที่ดีที่สุดสำหรับผู้คนคือการหลีกเลี่ยงการเปิดเผยผิวหนังเมื่ออยู่ในบริเวณที่อาจสัมผัสกับเห็บแข็ง แนะนำให้ผู้ที่เข้าไปใกล้พุ่มไม้สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกพวกมันกัด โดยเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ผลิจนถึงฤดูใบไม้ร่วงเมื่อแมลงออกหากิน การใช้ยาไล่แมลงอาจช่วยได้เช่นกัน ส่วนใครก็ตามที่ถูกเห็บดังกล่าวกัด ควรไปพบแพทย์แทนที่จะพยายามเอาออกเอง.