ช่วงกลางปีอย่างนี้ จะเห็นข่าวคราวจากหลายพื้นที่ทั่วโลกเผชิญแผ่นดินไหวบ้าง ไฟป่าบ้าง และพายุรุนแรงบ้าง ยิ่งฝนตกหนัก สิ่งที่ตามมาก็คือน้ำท่วม ดินถล่ม เรียกว่ากระทบเป็นลูกระนาดกันเลยทีเดียว หรือแม้แต่ “พายุฝุ่น” ก็ก่อความรำคาญเหมือนกัน ไม่สบใจคนชอบให้บ้านเรือนเอี่ยมอ่องสะอาดสะอ้านไร้รอยฝุ่น และฝุ่นยังก่อเกิดอันตรายต่อสุขภาพ สร้างปัญหาระบบทางเดินหายใจ เพราะการหายใจเอาฝุ่นละอองและอนุภาคในอากาศเข้าไป ก็ถือเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งของการเสียชีวิตของคนทั่วโลก
อีกอย่างที่กังวลก็คือ ฝุ่นละอองดันเดินทาง ได้อย่างอิสระจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง หรือจากทวีปหนึ่งไปยังอีกทวีปหนึ่ง สามารถแพร่เชื้อโรคได้ อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคระบาด แถมเมฆฝุ่นยังดูดซับและกระจายรังสีของดวงอาทิตย์ ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกเปลี่ยนแปลง สร้างผลกระทบต่อคุณสมบัติของเมฆและรูปแบบปริมาณน้ำฝน ฟังดูแล้วไม่ใช่มนุษย์เท่านั้นที่อ่วมอรทัย แต่สิ่งมีชีวิตบนโลกนานาชนิดก็โดนไม่ต่างกัน
การแก้ไขก็เป็นเรื่องไม่ง่ายอีก แต่เชื่อว่าการแจ้งเตือนล่วงหน้าดูเป็นหนทางเข้าทีอยู่ ต่อการรับมือพายุ โดยเฉพาะการแจ้งเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับสัญญาณของฝุ่น ที่มักแผ่ขยายไปทั่วพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำให้ยากที่จะคาดเดาว่าพวกมันจะโจมตีเมื่อใด ที่ไหน และรุนแรงเพียงใด แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมวิจัยจากแผนกวิทยาศาสตร์โลกและดาวเคราะห์แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ ในอิสราเอล นำเสนอผลวิจัยเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการพยากรณ์พายุฝุ่น โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ แบบที่เรียกว่า โครงข่าย ประสาทเทียม (Artificial Neural Networks) ซึ่งเป็นการสร้างคอมพิวเตอร์ให้รู้จักคิด รู้จักจดจำ มีวิธีการทำงานแบบเดียวกับสมองมนุษย์ โดยโครงข่ายประสาทเทียมจะต้องถูกสอนให้จดจำรูปแบบที่ควบคุมการแพร่กระจายของพายุได้
...
นักวิจัยใช้ข้อมูลที่รวบรวมจากสถานีอุตุนิยมวิทยาทุกแห่งของอิสราเอลในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิที่มีฝุ่นหนามาก พวกเขาระบุว่าสามารถพยากรณ์พายุฝุ่นได้มากกว่า 80% ล่วงหน้า 24 ชั่วโมง และประมาณ 70% ล่วงหน้า 48 ชั่วโมง แต่หากถามว่ามีเหตุการณ์ที่ระบบเอไอ ดังกล่าวไม่อาจคาดการณ์ได้ไหม คำตอบก็คือมี เช่นพายุที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในพื้นที่เฉพาะ ก็ทำให้ยากต่อการรวบรวมข้อมูลระดับภูมิภาคที่จะช่วยพยากรณ์ได้ อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยมองว่าความสำเร็จที่สำคัญสุดของงานวิจัยนี้ กำลังนำไปสู่การติดตามผลการใช้เอไอตรวจสอบชุดข้อมูลจำนวนมากและศึกษาหลักการทางกายภาพและกระบวนการในชั้นบรรยากาศในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน...ก็นับเป็นความก้าวหน้าที่น่ายินดี!
ภัค เศารยะ