"ไบต์แดนซ์" (ByteDance) บริษัทเจ้าของติ๊กต่อก (TikTok) ถูกกล่าวหาว่าอนุญาตให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าถึงข้อมูลของนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองและผู้ประท้วงชาวฮ่องกง

นายหยู หยินเทา อดีตผู้บริหารไบต์แดนซ์ ระบุในการยื่นฟ้องต่อศาลของสหรัฐฯ อีกว่า ผู้ใช้ที่อัปโหลดเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงยังถูกระบุตัวและตรวจสอบอีกด้วย นอกจากนั้น สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ติ๊กต่อกของสหรัฐฯ ได้ด้วย ขณะที่โฆษกของไบต์แดนซ์ปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าว โดยอธิบายว่า "ไม่มีมูลความจริง"

ข้อกล่าวหาดังกล่าวอยู่ในการยื่นฟ้องของศาลสูงซานฟรานซิสโกในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องร้องโดยนายหยู ที่อ้างว่าสมาชิกของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ สามารถเข้าถึงข้อมูลบัญชีผู้ใช้พิเศษ ซึ่งอนุญาตให้พวกเขาดูข้อมูลทั้งหมดที่ไบต์แดนซ์รวบรวมได้ นอกจากนี้เขายังกล่าวหาว่า สมาชิกคณะกรรมการไม่ใช่พนักงานของไบต์แดนซ์ แต่อยู่ที่สำนักงานของบริษัทในกรุงปักกิ่ง

นายหยู ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมของไบต์แดนซ์ ในสหรัฐฯ ประมาณหนึ่งปีนับจากเดือนสิงหาคม 2560 กล่าวว่านี่เป็นสิ่งที่ทราบกันโดยทั่วไปในหมู่ผู้บริหารระดับสูง 

การยื่นฟ้องยังกล่าวหาว่าในปี 2561 สมาชิกคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ ใช้ข้อมูลบัญชีผู้ใช้พิเศษ ในการระบุและค้นหาผู้ประท้วงชาวฮ่องกง นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมือง และผู้สนับสนุนการประท้วง

ฮ่องกงมีการประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2557 หรือที่เรียกว่าการปฏิวัติร่ม ซึ่งประชาชนเรียกร้องสิทธิในการเลือกผู้นำของตนเอง หลังจากนั้นก็มีการเดินขบวนเล็กๆ น้อยๆ ของกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวส่วนใหญ่หายไปนับตั้งแต่ทางการจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ หลังจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในปี 2562

...

ด้านโฆษกของไบต์แดนซ์กล่าวปฏิเสธคำกล่าวหาโดยระบุว่า "เราวางแผนที่จะต่อต้านสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นการกล่าวอ้างและข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริงในการร้องเรียนนี้อย่างจริงจัง" ไบต์แดนซ์ยังกล่าวด้วยว่า นายหยูได้รับการว่าจ้างจากบริษัทไม่ถึงหนึ่งปี และในช่วงเวลานั้นทำงานบนแอปฯ ที่ยุติการพัฒนาแล้วที่มีชื่อว่า "ฟลิปาแกรม" (Flipagram)

คำกล่าวอ้างของนายหยูเกิดขึ้นหลังจากติ๊กต่อก ถูกหลายประเทศดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ในเดือนมีนาคม นายโจว โซ่ว จือ ซีอีโอของติ๊กต่อก เผชิญกับการซักถามจากรัฐสภาสหรัฐฯ นานกว่า 4 ชั่วโมงครึ่ง เขาถูกทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของแอปฯ และข้อกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน

เมื่อเดือนพฤษภาคม รัฐมอนทานากลายเป็นรัฐแรกของสหรัฐฯ ที่ผ่านกฎหมายแบนแพลตฟอร์มแบ่งปันวิดีโอของจีน โดยการแบนจะมีผลในเดือนมกราคมปีหน้า ทำให้การเสนอแอปฯ ดังกล่าวในแอปสโตร์กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ไม่ได้ห้ามผู้ที่มีติ๊กต่อกอยู่แล้วไม่ให้ใช้งาน

ต่อมา ติ๊กต่อกดำเนินการฟ้องร้องเพื่อห้ามมิให้รัฐมอนทานาบังคับใช้คำสั่งห้าม โดยระบุว่าขัดแย้งกับสิทธิเสรีภาพในการพูดของสหรัฐฯ โดยรัฐมอนทานา ซึ่งมีประชากรมากกว่าหนึ่งล้านคน แบนติ๊กต่อกบนอุปกรณ์ของรัฐบาลเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

ติ๊กต่อกระบุว่า มีผู้ใช้ชาวอเมริกัน 150 ล้านคน แม้ว่าฐานผู้ใช้ของแอปฯ จะขยายตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่แอปฯ นี้ก็ยังเป็นที่นิยมมากที่สุดในกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใช้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป.